“องอาจ” พอใจ ส.ส.ปชป. อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน ฝาก นายกฯ หามาตรการป้องกันทุจริต
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณา พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับที่ผ่านมาว่า ตนพอใจการทำหน้าที่ของ ส.ส. ปชป. ที่อภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและบอกถึงแนวทางแก้ไข มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อให้การเยียวยาประชาชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การดูแลทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการของการดำเนินการตามกรอบนโยบายที่รัฐบาลกำหนด ทาง ส.ส. ของพรรคได้เน้นให้เห็นถึงการทำโครงการตามกรอบนโยบายเป็นการทำโดยข้าราชการประจำกลั่นกรองโดยข้าราชการประจำ มีการเอาโครงการเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ แล้วเอาเสื้อคลุมโควิดมาสวมใส่ให้ดูดี เพื่อให้เห็นว่าเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นการทำโครงการแบบ Top Down ไม่ใช่ Bottom Up หรือแบบบนลงล่างไม่ใช่จากล่างขึ้นไปข้างบน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะนี้มีคำสั่งหน่วยราชการจากส่วนกลางสั่งลงไปในพื้นที่ให้ข้าราชการรีบทำโครงการรวบรวมเสนอขึ้นมาข้างบนอย่างเร่งรีบ ซึ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าอาจไม่ได้ทำให้ตรงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ แต่ทำให้ผ่านไปตามกรอบเวลาที่กำหนด
นายองอาจ กล่าวต่อว่า อยากให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องนำข้อท้วงติงไปปรับปรุงแก้ไข และนำข้อเสนอแนะดีๆ ที่มีประโยชน์ไปปรับประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อให้การปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ เป็นการทำงานเพื่อให้ประชาชนโดยรวมได้ประโยชน์ คุ้มค่า ตรงจุดอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจ สังคม เดินหน้าต่อไปได้ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังต้องอยู่คู่กับเราไปอีกพอสมควร
นายองอาจ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไร้ทุจริตว่า นับเป็นเรื่องดีที่นายกฯ ย้ำไม่ให้เกิดการทุจริตเด็ดขาด แต่การย้ำอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ในสภาวะพิเศษที่มีการใช้เงินกู้จำนวนเงินมหาศาล นายกฯ ควรมีมาตรการพิเศษออกมาเสริมการทำงานตามปกติขององค์กรป้องกันปราบปรามทุจริตต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชนที่ต้องทนแบกรับภาระหนี้เงินกู้นี้ว่านายกฯ เอาจริง ไม่ใช่ปล่อยตามกระบวนการปกติ เพราะนี่คือการใช้เงินกู้ในสภาวะพิเศษ จึงควรมีมาตรการพิเศษเข้ามาจัดการด้วย ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่ารัฐบาลมีหน่วยงานตรวจสอบอยู่แล้ว ทั้ง ปปง. ป.ป.ช. และ ปปท. นั้น หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ตามปกติอยู่แล้ว และมักจะเข้าไปจัดการ ก็ต่อเมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น แต่สิ่งที่สังคมอยากเห็นคือการป้องกันการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับที่มีจำนวนเงินมหาศาลว่า ควรมีวิธีการป้องกันให้รัดกุมเสียแต่เบื้องต้น ดีกว่าปล่อยให้มีการทุจริตแล้วค่อยตามไปจัดการทีหลัง จึงขอฝากให้นายกฯ และผู้เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบทุกช่องทาง เพื่อช่วยให้การใช้เงินจำนวนมหาศาลเป็นไปอย่างคุ้มค่า เกิดประสิทธิภาพ ตรงจุด ตรวจสอบได้ และไร้การทุจริตอย่างแท้จริง