รมว.คลังพร้อมดูแลเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ด้าน ผู้ว่าฯธปท.ยันซอฟท์โลน 5 แสนล้าน ไม่ถือเป็นเงินกู้-หนี้สาธารณะ
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นายอุตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงประเด็นการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ว่า ในนามรัฐบาลขอบคุณ ส.ส.ที่ชี้แนะท้วงติงนำสิ่งเหล่านี้ไปดำเนินการต่อไป แต่ในชั้นต้นเรื่องการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทราบดีว่ามีความหลากหลายทั้งเรื่องธุรกิจ โครงสร้างธุรกิจ วิสาหกิจชุมชน และยังมีความแตกต่าง นอกจากประสบการ คือเรื่องทุนที่มีความสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประสบการณ์ความต้องการแตกต่างมากพอสมควร เมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีกระทบรุนแรงต้องประคับประคองกันไปให้ได้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการทำงานร่วมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยหารือผู้ประกอบการออกมาตรการออกมา และหลายมาตรการได้นำเสนอออกมาแล้ว แต่ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์ยังไม่แน่นอน รัฐบาลตระหนักดีจากการรับฟังความเห็นจำเป็น ต้องมีมาตรการต่อไป สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งในการประชุม ครม.นัดที่ผ่านมา มีการนำเสนอมาตรการที่จะดูแลให้ครอบคลุม โดยครม.เห็นชอบในหลักการ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งพิจารณากำหนดมาตรการออกมาในเวลาไม่นาน โดยเป้าหมายจะดูแลกลุ่มเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินธนาคารพาณิชย์ได้เต็มที่ นอกจาก พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เป็นมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ไม่มีประสบการณ์กู้เงิน หรือไม่เข้มเข็งในเรื่องเงินทุน และมีขนาดไม่ใหญ่ อย่างวิสาหกิจชุมชน แต่ในภาวะเช่นนี้จะเป็นที่น่าเสียดายว่ากระทบจนเดินต่อไม่ได้ โดยมาตรการมีความเป็นไปได้จะเป็นในรูปของกองทุนประกอบเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งไปในตัว
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินผ่านโครงการซอฟท์โลน ที่ได้ตั้งวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ไม่ถือว่าเป็นเงินกู้ แตกต่างจากกรณีของการทำมาตรการการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ เพราะเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยเงินออกไปให้สถาบันการเงิน เมื่อครบ 2 ปีสถาบันการเงินก็จะนำเงินที่มีการกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยไปกลับมาคืน ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นภาระภาษีให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต ตามที่ ส.ส.มีการตั้งข้อสังเกต โดยการทำซอฟท์โลนมีความพิเศษ เนื่องจากการขาดสภาพคล่องเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม หรือเป็นเรื่องเฉพาะเอสเอ็มอี จึงมีการขออำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถจัดสรรสภาพคล่องได้เฉพาะกลุ่มเป็นกรณีพิเศษ เช่นที่เคยทำครั้งเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2540 ที่ได้มีการขอให้สภาฯอนุมัติออกพระราชกำหนดในการทำโครงการซอฟท์โลนเช่นกัน
ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ธนาคารกลางโดยทั่วไปมีหน้าที่บริหารสภาพคล่องในระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ หากเห็นว่ามีสภาพคล่องส่วนหนึ่งเกินในระบบ ธนาคารกลางจะมีหน้าที่ดูดสภาพคล่องออกมา แต่หากเห็นว่าสภาพคล่องในระบบขาดแคลนไม่สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการส่งเสริม ธนาคารกลางจะใส่สภาพคล่องเข้าไปด้วยเครื่องมือต่างๆเป็นการทั่วไปแทน โดยผ่านระบบสถาบันการเงิน ระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่
ทั้งนี้จากข้อสังเกตที่ว่าการทำซอฟท์โลนเป็นการนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้แจงว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ มีหน้าที่หลักในการดูแลสภาพคล่องด้านต่างประเทศของระบบเศรษฐกิจไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือการขาดสภาพคล่องของเอสเอ็มอีในรูปของเงินบาท และมีกลไกในการบริหารสภาพคล่องในรูปเงินบาท จึงไม่จำเป็นต้องไปใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนแยกจากกันโดยเด็ดขาด ดังนั้นไม่กระทบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ