"วิโรจน์" ถามประเทศไทยต้องชนะหมายถึง ปชช.ด้วยหรือไม่

2020-05-27 15:45:29

"วิโรจน์" ถามประเทศไทยต้องชนะหมายถึง ปชช.ด้วยหรือไม่

Advertisement

"วิโรจน์" อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ถามประเทศไทยต้องชนะหมายถึงประชาชนด้วยหรือไม่ จี้รัฐบาลพิสูจน์ความโปร่งใส หนุนตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้งบประมาณ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่รัฐสภา มีการอภิปราย พ.ร.ก. 3 ฉบับประกอบด้วย  พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563  พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ  พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนและมีการบังคับใช้แล้วก่อนที่จะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถามนายกรัฐมนตรีว่า ที่ชูสองแขนแล้วพูดว่า ประเทศไทยต้องชนะ นั้น คำว่าประเทศไทย หมายความถึงประชาชนด้วยหรือไม่ ? เพราะถ้าประชาชนชนะ แล้วทำไมจึงมีภาพของการไปต่อแถวร้องทุกข์ด้วยสายตาที่เลื่อนลอยสิ้นหวังน้ำตาคลอเบ้า ที่หน้ากระทรวงการคลัง ทำไมจึงมีภาพคนเป็นแม่ยืนร้องไห้เพราะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก สิ่งที่เหล่านี้ ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชนเลย เป็นเพียงการได้มาในสิ่งที่รัฐบาลอยากได้ โดยยืนอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชน เป็นการประกาศชัยชนะของรัฐบาล โดยที่เอาประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยมาเป็นเครื่องเซ่น เอากิจการขนาดเล็ก มาเป็นเครื่องสังเวย

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า คำว่า เราไม่ทิ้งกัน ของรัฐบาล ที่แท้จริงก็คือต้องขยายความว่า เราไม่ทิ้งกัน ส่วนพวกมันก็ให้ทิ้งไป ภายใต้วิธีคิดของรัฐบาลนี้ การเข้าไปอุ้มชูนายทุนทำได้ง่ายดายและรวดเร็ว เช่น กรณีบอร์ดการท่าอากาศยาน เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ได้มีมาตรการปรับลดค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 63 และค่าเช่าแบบคงที่ ให้ปรับลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ 1 ก.พ. 63 ถึง 31 ม.ค. 64 รวมทั้งค่าผลตอบแทนแบบเปอร์เซ็นต์ ให้ยกเว้นเงื่อนไขขั้นต่ำรายเดือน และรายปี ตั้งแต่ 1 ก.พ. 63- 31 มี.ค. 65 แถมยังให้เลื่อนการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่มีค่าปรับอีกด้วย ซึ่งประเมินกันว่า จะทำให้กำไรของการท่าอากาศยาน ในปี 63-65 รวมกันแล้ว ลดลงถึง 22,536 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นของการท่าอากาศยานปรับตัวลดลงทันทีในวันที่ 20 ก.พ. คือ 4.80 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นความเสียหายที่กระทรวงการคลังต้องรับรู้ทันทีถึง 32,500 ล้านบาท  เงินจำนวนนี้ ไม่ใช่น้อยๆ เมื่อคำนวณแล้วสามารถเอามาเยียวยาประชาชน จำนวน 5,000 บาท ได้ถึง 2.2 ล้านคน ซื้อหน้ากากอนามัยได้ 8 พันล้านชิ้น ซื้อชุด PPE ให้กับหมอ ได้ 90 ล้านชุด ซื้อข้าวสารถุงละ 5 ก.ก. ได้ 216 ล้านถุง สามารถแจกได้ทุกครัวเรือนในประเทศไทยที่มีอยู่ 21 ล้านครัวเรือน ได้ครัวเรือนละ 10 ถุง อยู่ได้นานถึง 5 เดือน ถ้าเทียบกับกรณีสินค้าปลอดภาาษีในสนามบินนั้น เกษตรกรกว่าจะได้รับการอนุมัติการเยียวยา ก็ต้องรอจนถึงวันที่ 28 เม.ย. หลังผู้ประกอบธุรกิจที่สนามบินถึง 2 เดือนเศษ

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า การกู้เงินมาใช้แก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องกู้ แต่สิ่งที่น่ากังวลและเป็นปัญหาคือ รัฐบาลมีฐานคิดที่ลักลั่นสองมาตรฐาน นายทุนมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน ฐานคิดที่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของเงิน และกำลังเจียดเงินเพื่อสงเคราะห์ประชาชนใต้การปกครอง โดยให้ประชาชนรอความเมตตาจากรัฐ แบบนี้ไม่ถูกต้อง ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พอประชาชนด้วยกันทนไม่ได้ นำอาหารออกมาแจกจ่ายช่วยกันเอง ก็ยังถูกจับกุมดำเนินคดี ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลทำงานเป็น พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ทั้งกู้เงิน ซอฟท์โลน และพยุงหุ้นกู้ จะต้องวางแผนให้สอดคล้องกันกับ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยกฎหมายทั้ง 5 ฉบับนี้ และต้องวางแผนให้สอดคล้อง มียุทธศาสตร์ร่วมกัน สัญญาณที่รัฐบาลควรส่งมาที่สุดในตอนนี้ ก็คือ การสื่อให้ประชาชนรับรู้ว่า รัฐบาลกำลังพยายามที่จะปกป้อง สภาพการจ้างงานของพวกเขา

นายวิโรจน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมองว่า 'บาซูก้างบประมาณ' ก้อนนี้ เป็นเครื่องมือที่จำเป็น แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือ จัดสรรเงินใหม่ โดยรวมเอาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เข้ากับเงินที่ได้จากการโอนงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ อีก 88,000 ล้านบาท เป็น 1.088 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เงินก้อนนี้ถูกใช้ไปแล้ว 345,000 ล้านบาท กับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเราช่วยกัน และเยียวยาเกษตรกร เหลือที่จัดสรรได้อีก 743,000 ล้านบาท โดยทางพรรคฯเสนอวิธีจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุดโดย เงินก้อนแรก วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข แบ่งเป็นเงินจำนวน 67,000 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายวัคซีนฟรีสำหรับทุกคน และเงิน 33,000 ล้านบาท สำหรับจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และเพิ่มสวัสดิการให้บุคลากรสาธารณสุข ส่วนก้อนที่สองวงเงิน 643,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชน แบ่งเป็น ส่วนแรก 504,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชนถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ยกเว้นข้าราชการ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับเงิน 1,000 บาท และเงินอีก 120,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จ่ายเงินเดือนลูกจ้างร้อยละ 50 ของเงินเดือน แต่ไม่เกินรายละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน โดยลูกจ้างต้องเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่านายจ้างห้ามเลิกจ้างในช่วง 3 เดือนที่รับเงินสมทบค่าจ้าง และในก้อนสุดท้าย วงเงิน 19,000 ล้านบาท ใช้จัดสรรอาหารฟรีให้ประชาชน

"ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนงบประมาณสำหรับฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะ รวมทั้งสามารถใช้จากงบประมาณแผ่นดินปี 2564 แทนได้ ภายใต้ข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณแบบพรรคก้าวไกลที่กล่าวมานั้น จะทำให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง ไม่ต้องพิสูจน์สิทธิ์ ไม่ต้องรอนานกว่าจะได้เงิน บุคลากรด้านสาธารณสุขมีเครื่องมือเพียบพร้อมในการรับมือโควิด-19 ส่วนธุรกิจรายย่อย ก็จะยังสามารถประคองตัวไปได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ทุกคนจะมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับมาตรการควบคุมโรค" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลเขียนมานี้ มีรายละเอียดอยู่เพียง 7 หน้า คิดเป็นหน้าละ 1.4 แสนล้านบาท มีทั้งสิ้น 148 บรรทัด คิดเป็น บรรทัดละ 6,800 ล้านบาท นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญ ที่พรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และหากรัฐบาลยืนยันในความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของตัวเอง ตามที่ปรากฎในมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ค. จริง ก็ควรต้องให้ความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่าทีของรัฐบาลต่อการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ จะเป็นจุดชี้ขาด การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลว่า จะลงมติอย่างไรกับ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้เพราะประเทศไทยต้องชนะในคำว่าประเทศไทยนั้น คือประชาชนต้องชนะไปด้วยกัน