0 หนสามแต่ พรก.ฉุกเฉินยังจำเป็น ผ่อนคลายระยะต่อไปเสี่ยงสูงยิ่ง

2020-05-22 21:10:54

0 หนสามแต่ พรก.ฉุกเฉินยังจำเป็น   ผ่อนคลายระยะต่อไปเสี่ยงสูงยิ่ง

Advertisement




สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยวันที่ 22 พ.ค.63 ผู้ป่วยใหม่ 0 ราย จำนวนสะสม 3,037 ราย หายป่วยเพิ่มเป็น 2,910ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต รักษาตัวในโรงพยาบาล 71 ราย


ตัวเลข 0 เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใน 9 วัน คือ วันที่ 13,18และ22พ.ค.63 ครั้งแรกเกิดหลังจากการผ่อนคลายมาตรการระยะที่หนึ่งได้ 10 วัน ครั้งที่2 ตรงกับวันผ่อนคลายมาตรการระยะที่สอง ส่วนครั้งที่สาม ห่างจากวันผ่อนคลายระยะที่สอง 5 วัน






ศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019(ศบค.) ได้ทบทวนข้อมูล 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 8-21พ.ค.63 มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 45 ราย เป็นกลุ่มที่มาจากต่างประเทศเข้ากักตัวในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ(State Quarantine) 15 ราย ผู้ป่วยในศูนย์กักกัน ผู้ต้องกัก 5 ราย รวม 20 ราย อีก 25 ราย เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า 11 ราย การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน 6 ราย ผู้ป่วยไปในที่ชุมชนและอื่นๆ 5 ราย อาชีพเสี่ยง พนักงานขายของ 3 ราย




รายงานแจ้งว่า จำนวน 25 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยจากการติดเชื้อในประเทศ เป็นกลุ่มที่น่ากังวล เพราะเป็นผู้ที่เดินไปเดินมา ในพื้นที่ชีวิตประจำวันทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ด้วย



วันเดียวกับที่รายงานผู้ป่วยเป็นศูนย์ครั้งที่สาม ตรงกับวันที่มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การนี้ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรายงานขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข 3 ด้าน


1.มีความจำเป็น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในราชอาณาจักร ให้มีเอกภาพ รวดเร็ว ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อ ใช้ไม่เพียงพอ จะต้องใช้กฎหมาย 40 ฉบับมาอยู่ใต้ พรก.ฉุกเฉินถึงจะปฏิบัติได้ เนื่องจากมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้า จากต่างประเทศ การเคลื่อนย้าย การใช้ยานพาหนะ อากาศยาน การตรวจคนเข้าเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย


2. การเตรียมการรองรับระยะต่อไป สำหรับมาตรการผ่อนคลาย ระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จำต้องมีมาตรการตามกฎหมาย เพื่อให้การบริหารจัดการการผ่อนคลายในเวลาที่เหมาะสม




3. สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศมีการระบาดและมีผู้ที่ติดเชื้อในระดับที่สูง หากไทยจัดทำมาตรการครบทั้ง 4 ระยะ ก็จำเป็นต้องมีระยะเวลาเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ เช่น มาตรการด้านกฎหมาย การวางแผนเพื่อรองรับความเสี่ยงของโรคที่อาจจะกลับมาแพร่ระบาด



ข้อเสนอนี้ ต้องขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่น่าจะมีเหตุที่ทำให้เห็นแล้วไม่ชอบ


ประชาชนทั่วไป ถึงจะไม่สะดวกกายใจ แต่ก็คงไม่อยากใช้ชีวิตร่วมกับโควิดด้วยกัน ดังนั้น ก็ไม่น่าจะมีใครออกมาประท้วง


ระหว่างนี้ ศบค.ก็วางไทม์ไลน์ เพื่อการผ่อนคลายระยะที่สาม ตั้งแต่เสาร์ อาทิตย์นี้ เตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง จันทร์ อังคาร 25-26พ.ค.63 คณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมฯ ก็จะเตรียมมาตรการผ่อนคลาย พร้อมกับการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรค หลังจากนั้น คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ก็จะไล่พิจารณาว่าให้อะไร อย่างไร แค่ไหน




กิจการใด อยากได้ผ่อนคลาย จะช่วยป้องกันได้ขนาดไหน ต้องรีบเสนอแผนให้กรรมการรับฟัง



แต่นอกเหนือจากกิจการและกิจกรรม ยังมีธุรกิจ การใช้ชีวิต ที่บางอย่างก็เป็นที่สงสัย หวั่นใจว่าจะป้องกันการแพร่ระบาดได้สักแค่ไหน เช่น บริการจัดส่งอาหาร อันนี้ มีรายงานว่ากรมอนามัย กำลังพิจารณา ซึ่ง พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการปล่อยข่าวว่าจะมีการกำหนดข้อปฏิบัติ เช่น ผู้จัดส่งอาหารต้องเลือกอาหารจากร้านที่ขึ้นทะเบียน ได้การรับรองจากหน่วยราชการ ต้องเลือกให้บริการจากแหล่งอาหารที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอาหาร ถูกสุขลักษณะ ป้องกันการปนเปื้อน มีระบบคัดกรองผู้ส่งอาหาร ตรวจสอบประวัติ ตรวจสุขภาพ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ไม่เป็นพาหะนำโรค


ซึ่งก็น่าจะดี แต่คนที่ยึดการส่งอาหารเป็นอาชีพคงไม่สบายใจ


คุณหมอบอก ขณะนี้ยังเป็นเพียงการหาข้อมูลทางวิชาการ รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาคำแนะนำ หวังจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่โรค


คือถ้าจะทำก็คงไม่ทำให้ผู้ประกอบอาชีพลำบาก




หน่วยงานต่าง ๆ กำลังพยายามทบทวนและหาคำแนะนำเพื่อช่วยผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการในกิจการที่มีความเสี่ยง ล่าสุด กระทรวงคมนนาคม แนะนำการใช้รถสองแถว คนขับห้ามป่วย ต้องสวมหน้ากากอนามัย และปฏิเสธผู้โดยสารที่ไม่สวมหน้ากากได้ ทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังให้บริการ โดยจัดที่นั่งให้มีระยะห่าง มีเจลแอลกอฮอล์ให้ผู้โดยสาร


ผู้ใช้บริการก็ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา นั่งแบบเว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และงดคุยโทรศัพท์



มาตรการหรือคำแนะนำต่าง ๆ ที่ออกมาให้ปรับ อาจทำให้ขาดความสะดวก ไม่คุ้นเคยก็คงต้องฝึกปฏิบัติกันต่อไป เพราะที่จะให้มั่นใจได้ ก็ต่อเมื่อโลกนี้มีวัคซีนป้องกัน


แม้เมืองไทยมีการพัฒนาวัคซีนพร้อมกับอีกหลายประเทศ ด้วยเทคโนโลยีทั้ง 6 ชนิดที่มี และมีความสำเร็จในระดับสัตว์ทดลอง แต่ที่จะผลิตออกมาใช้ ก็ต้องคอยอย่างน้อยอีก 1 ปี



ตอนนี้เขาให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไร ก็อย่าฝืน เพราะไม่มีทางเลือกอื่น