หลังไซโคลน "อำพัน" เหลือแต่ซากความเสียหาย

2020-05-21 18:05:12

หลังไซโคลน "อำพัน" เหลือแต่ซากความเสียหาย

Advertisement

เจ้าหน้าที่กู้ภัยค้นหาผู้รอดชีวิตในภาคตะวันออกของอินเดียและบังกลาเทศในวันพฤหัสบดี หนึ่งวันหลังซูเปอร์ไซโคลน "อำพัน" ไซโคลนกำลังแรงที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี พัดถล่มหลายหมู่บ้านชายฝั่งทะเลได้รับความเสียหายอย่างหนัก และน้ำท่วมตามเส้นทางที่ไซโคลนเคลื่อนตัวผ่าน

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย จะทราบได้อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อการสื่อสารกลับมาใช้งานได้ ส่วนในรัฐเวสต์เบงกอลของอินเดีย มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยมากกว่า 20 คน และ 10 คนในบังกลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่การอพยพประชาชนครั้งใหญ่เพื่อหนีไซโคลนครั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้อย่างนับไม่ถ้วน

ผู้เสียชีวิตมากที่สุดมีสาเหตุมาจากต้นไม้ที่ถูกกระแสลมแรง ซึ่งเคลื่อนตัวด้วยความเร็วลมที่จุดศูนย์กลาง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดหักโค่นลงมาทับ และยังเกิดสตอร์ม เซิร์จ หรือคลื่นสูงซัดชายฝั่ง สูงประมาณ 5 เมตร ทำให้น้ำทะเลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ราบต่ำตามแนวชายฝั่ง เมื่อไซโคลนเคลื่อนตัวจากอ่าวเบงกอลในวันพุธ




"ผมไม่เคยเห็นไซโคลนแบบนี้มาก่อนเลยในชีวิต มันเหมือนโลกจะดับสลาย ผมได้แต่สวดมนต์ขอให้พระเจ้าคุ้มครองเท่านั้น" อัซการ์ อาลี วัย 49 ปี ชาวเมืองซัตกีรา ชายฝั่งทะเลของบังกลาเทศ กล่าวกับรอยเตอร์

อย่างไรก็ตาม ไซโคลน "อำพัน" อ่อนกำลังลง ตั้งแต่มันพัดขึ้นฝั่ง เข้าสู่แผ่นดินใหญ่ผ่านบังกลาเทศ มันลดความแรงลงเป็นพายุหมุนธรรมดาเมื่อวันพฤหัสบดี และคาดว่าจะลดกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นในเวลาต่อไป



โมฮัมเหมัด อาซาดุซซามาน เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงในเมืองซัตกีรา ระบุว่า ความเสียหายที่ไซโคลนอำพันทิ้งไว้หนักหนาสาหัสมาก หลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วม ต้นไม้และเสาไฟหักโค่นระเนระนาด หลังคาบ้านถูกกระแสลมแรงพัดปลิวว่อน

มีความวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับน้ำท่วมในพื้นที่ซุนดาร์บันส์ พื้นที่ที่มีความเปราะบางทางนิเวศวิทยา ที่ทอดยาวไปตามพรมแดนอินเดีย-บังกลาเทศ ซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์เสือด้วย

เบลาเยต ฮอสเซน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทางฝั่งของบังกลาเทศ กล่าวว่า คลื่นสูงซัดฝั่งทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมบางส่วนของพื้นที่ป่า พวกเราเห็นต้นไม้หักโค่นชนิดถอนรากถอนโคนจำนวนมาก หอรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ก็ได้รับความเสียหาย



ส่วนซุนดาร์บันส์ ทางฝั่งของอินเดีย เจ้าหน้าที่หมู่บ้าน กล่าวว่า เขื่อนกั้นน้ำล้อมรอบเกาะที่ราบต่ำแห่งนี้ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 5,000 คน ถูกคลื่นซัดพังพาบ และยังไม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือได้

เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ประเทศ จัดการอพยพประชาชนของตนรวมกันมากกว่า 3 ล้านคน ไปอยู่ในที่ปลอดภัย ก่อนไซโคลนอำพันพัดขึ้นฝั่ง แต่ความพยายามในการอพยพประชาชน ก็พุ่งเป้าไปที่ชุมชนต่าง ๆ ที่เป็นเส้นทางเคลื่อนตัวของไซโคลนโดยตรง ซึ่งก็ยังมีอีกหลายหมู่บ้าน ตกอยู่ในความเสี่ยง

ภาพจากสถานีโทรทัศน์ แสดงให้เห็นภาพเรือพลิกคว่ำบนชายฝั่ง ประชาชนเดินลุยน้ำสูงถึงเข่า และรถบัสหลายคันนพุ่งชนกันเอง สนามบินโกลกาตา เมืองเอกของรัฐเวสต์เบงกอล ถูกน้ำท่วมสูง และอีกหลายเขตในเมือง ที่มีประชากร 14 ล้านคน ไม่มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่พายุลูกนี้พัดถล่ม นอกจากนี้ คลื่นยังซัดเขื่อนกั้นแม่น้ำในหลายพื้นที่เสียหาย น้ำท่วมในหมู่บ้านต่าง ๆ กว่า 10 แห่ง ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 100,000 คน

ไซโคลนลูกนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังต่อสู้เพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 และผู้อพยพบางคนตอนแรกก็ลังเลที่จะอพยพออกจากบ้านตัวเอง เนื่องจากกลัวติดเชื้อในศูนย์หลบภัยพายุ



ไซโคลนมักพัดถล่มหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกของอินเดียและบังกลาเทศระหว่างเดือนเมษายนและธันวาคม ซึ่งมักจะทำให้มีการอพยพประชาชนจำนวนมาก และสร้างความเสียหายในวงกว้าง