แสงยูวีซี และ ผิวหนัง

2020-05-20 17:00:11

แสงยูวีซี และ ผิวหนัง

Advertisement

แสงยูวีซี และ ผิวหนัง

แสงอาทิตย์ที่ผ่านชั้นบรรยากาศต่าง ๆ จนมาถึงผิวโลก แบ่งได้เป็นสามส่วนใหญ่ ๆ คือ ultraviolet (290-400 nm), visible light (400-760 nm) และ infrared (760-3,000 nm) รังสีอัลตราไวโอเลตเป็นช่วงความยาวคลื่นที่มีพลังงานสูงสุดและมีบทบาทต่อผิวหนังมากที่สุด

รังสีอัลตราไวโอเลต แบ่งย่อยได้เป็นสามส่วนได้แก่ รังสี UVA รังสี UVB และ รังสี UVC

รังสี UVA คือรังสีอัลตราไวโอเลต ที่มีความยาวคลื่น 320-400 nm สามารถทะลุไปถึงชั้นผิวหนังกำพร้าและลงลึกถึงชั้นหนังแท้ ได้แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง เมื่อสัมผัสกับรังสี UVA จะเห็นได้ไม่ชัดเจนไม่รู้สึกเจ็บแสบหรือแดง แต่ผลการได้รับในระยะยาวจะทำให้เกิดการเหี่ยวย่น ริ้วรอย และผิวหนังมีสีคล้ำลงได้

รังสี UVB คือรังสีอัลตราไวโอเลต ที่มีความยาวคลื่นรองลงมามีความยาวคลื่น 290 ถึง 320 nm รังสี UVB จะถูกกั้นโดยชั้นบรรยากาศบางส่วนและส่องมาถึงผิวโลกประมาณร้อยละ 0.1 ของแสงทั้งหมด มีผลทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดอาการแสบแดงร้อนและไหม้เกรียมได้หากได้รับรังสีเป็นปริมาณมาก

รังสี UVC เป็นรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดหนึ่งมีความยาวคลื่น 200-280 nm ในธรรมชาติรังสี UVC ถูกกรองไว้โดยชั้นโอโซน จึงไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศของโลกลงมาได้

เนื่องจากรังสี UVC ถูกดูดซับโดยโมเลกุลอินทรีย์รวมถึง DNA ทำให้เกิดการตายของจุลินทรีย์ จึงได้กลายเป็นที่นิยมสำหรับการใช้งานฆ่าเชื้อโรค

ปัจจุบันเนื่องจากการระบาดอย่างรุนแรงของ COVID-19 ทำให้มีการนำหลอด UVC ที่มีความยาวคลื่น 254 นาโนเมตรมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานควรมีความรู้ความเข้าใจว่าการฆ่าเชื้อนั้นจะเกิดขึ้นได้ดีในระยะใกล้และในด้านที่แสงตกกระทบ UVC เดินทางเป็นเส้นตรงดังนั้นบริเวณที่เป็นซอกหลืบหรือส่วนที่ถูกแสงบัง จะไม่สามารถใช้ UVC ฆ่าเชื้อได้ รวมถึงอุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบของพลาสติกอาจมีระยะการใช้งานที่ลดลงเนื่องจากการฆ่าเชื้อด้วย UVC ดังนั้น แนะนำให้ใช้วิธีอื่นในการทำความสะอาด เช่น เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม UVC ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง และ ดวงตา เนื่องจาก UVC สามารถทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง ไหม้ หรือ ในระยะยาว อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง ส่วนดวงตาอาจพบเป็นกระจกตาอักเสบได้หากมองหรือสัมผัสกับ UVC ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ดังนั้นหากจำเป็นต้องสัมผัส UVC แนะนำให้สวมแว่นตา เสื้อผ้าที่ปกคลุมบริเวณผิวหนังที่ต้องสัมผัส UVC รวมถึงสวมถุงมือปกป้องผิวบริเวณมือหากต้องหยิบจับอุปกรณ์ใด ๆ ในขณะที่มีการเปิดใช้งานหลอด UVC

UVC ไม่สามารทะลุผ่านผ้า กระจก ไม้ กระดาษ รวมทั้งอลูมิเนียมและโลหะ ดังนั้นหากมีการใช้หลอด UVC ฆ่าเชื้อโรคในอากาศ หรือพื้นผิว จำเป็นต้องปิดห้องให้สนิท ไม่ให้มีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่ในห้อง หรือหากเป็นตู้ UVC เพื่อฆ่าเชื้อโรค ก็จำเป็นที่จะต้องปิดฝาให้สนิท ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีระบบปิดมิดชิดไม่มีแสงส่องลอดออกมา

ผศ.พญ.พลอยทราย รัตนเขมากร

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล