การบินไทยไปต่อ การเมืองมองต่างจากประชาชน

2020-05-17 10:35:00

การบินไทยไปต่อ  การเมืองมองต่างจากประชาชน

Advertisement

ที่จริง ผมฟันธงเขียนแปะข้างฝาตั้งแต่เริ่มเป็นข่าวครั้งหลังสุด การบินไทยจะล้มละลายหรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู หลังจาก 5 ปีการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 และมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือคนร.ขึ้นมาควบคุมดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน หลายแห่งขาดทุนย่อยยับ


การบินไทยเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจเป้าหมาย เพราะเต็มไปด้วยปัญหา สิทธิประโยชน์และผลประโยชน์มากมายโดนรุมทึ้ง กระทั่งสโลแกน"รักคุณเท่าฟ้า"และรอยยิ้มสยาม ที่เคยสร้างความประทับใจให้ชาวโลก พร้อมกับกิจการที่รุ่งเรืองกลายเป็นอดีตไปแล้ว


ผ่านไปใกล้จะครบ 6 ปี การบินไทยก็เพิ่งจะผ่านการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการในเชิงหลักการของคนร.ทั้งที่ควรจะทำได้เร็วกว่านั้นเพราะการแข่งขันในตลาดการบินปัจจุบันดุเดือดรุนแรงมาก ความล่าช้าหรือปล่อยให้มีช่องโหว่ ก็จะยิ่งทำให้คู่แข่งที่พร้อมและเร็วกว่า ทิ้งไปไกลขึ้นทุกที



แต่แผนฟื้นฟูที่ว่า กลับไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยจากพรรคประชาธิปัตย์ รวมกระทั่งถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 ในรัฐบาล รองจากพรรคพลังประชารัฐ





เหตุผลผ่านคำให้สัมภาษณ์สื่อ คือแผนฟิ้นฟูที่ผ่านคนร.เป็นเพียงกรอบกว้างๆที่ยังขาดรายละเอียดในทางปฏิบัติ หรือ action plan



อีกทั้งไม่ได้พ่วงกรณีผลกระทบจากโควิด 19 ไว้ในแผนด้วย จึงสั่งให้การบินไทยทำ action plan มาใหม่ภายใน 21 พฤษภาคม





นั่นเป็นการแสดงจุดยืนผ่านสื่อ ด้วยนัยยังให้โอกาสทำแผนปฏิบัติการขึ้นมาใหม่ แต่วงในลือกันสะพัดว่า พรรคภูมิใจไทยต้องการให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการล้มละลายมากกว่า เพราะสถานะการบินไทยกลวงโบ๋และย่ำแย่เกินไปในมุมของนักธุรกิจที่เคยผ่านการบริหารจัดการกิจการใหญ่ๆมาแล้ว จึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้นของการบินไทย 53,000 ล้านบาท รวมทั้งการเพิ่มทุนอีก 8 หมื่นล้านบาท



ทั้งนี้ได้ประเมินแล้วว่า จะเป็นเพียงการยื้อเวลาและเพิ่มตัวเลขขาดทุนของการบินไทยเท่านั้น สรุปคือถมไปก็เสียเปล่า สู้ให้เข้าแผนฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายจะดีกว่า



ขณะที่เสียงวิพากษ์และความเห็นต่อกรณีการบินไทยของผู้คนหลากหลายภาคส่วน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะดันทุรังอุ้มการบินไทยต่อไป เนื่องจากปัญหา อุปสรรค ความไม่คล่องตัว รวมทั้งการรุมทึ้งผลประโยชน์ภายใน พอกพูนเกินกว่าจะทำอะไรได้ บางคนเห็นว่า ตั้งสายการบินแห่งชาติขึ้นใหม่ยังง่ายกว่า และมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า





แต่ในซีกของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลัง ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในการบินไทย กลับมองต่างมุมชัดเจน



นายสมคิดซึ่งไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้การบินไทยล้มละลายมาแต่ต้น ยังคงกล่าวย้ำล่าสุดว่า การฟื้นฟูการบินไทยต้องเป็นไปตามมติ คนร.ที่ให้รัฐบาลเข้าไปดูแล แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในของการบินไทยเพื่อให้ดีขึ้นในทุกขั้นตอน



นายสมคิดยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า รัฐมนตรีคนอื่นๆต่างเห็นด้วยกับการให้ล้มละลาย สอดคล้องกับนายอุตตม ที่ยืนยันว่า ทางออกของการบินไทยต้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตัดสิน




จะว่าไปแล้ว การที่ทั้งนายสมคิดและนายอุตตม ไม่ได้เข้าร่วมหารือการประชุมนัดสำคัญที่กระทรวงคมนาคมเมื่อปลายสัปดาห์ แต่เลือกไปประชุมตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 แทน ก็มีนัยแสดงความไม่เห็นด้วยกับฝ่ายของนายอนุทินในทีอยู่แล้ว


อย่างไรก็ตาม เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกนายอนุทิน นายศักดิ์สยาม และนายถาวร เข้าพบที่ทำเนียบฯเมื่อวันศุกร์ ความชัดเจนและจุดยืนของพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านคำให้สัมภาษณ์สื่อของนายอนุทิน เป็นเสมือนการตัดสินว่า แนวทางของฝ่ายไหนเป็นผู้ชนะ


"นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการฟื้นฟูการบินไทย เพื่อให้ไปต่อได้" เป็นคำให้สัมภาษณ์โดยสรุปของนายอนุทิน



แม้อาจจะผิดหวังที่แนวทางของพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ถูกเลือก แต่นายอนุทินก็พยายามไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น แต่ลึกๆแล้ว ไม่มีใครรู้ว่า เขาคิดอะไร


เพราะในสนามเลือกตั้ง พรรคการเมืองและนักการเมืองอาชีพ จำเป็นต้องฟังเสียงและความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งเรื่องการบินไทย ที่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยการนำเงินภาษีอากรประชาชนไปอุ้มการบินไทยแบบไม่รู้จบ


พรรคภูมิใจไทยเคยได้เสียงสนับสนุนถล่มทลายจากนโยบายปลูกกัญชาเสรีครอบครัวละไม่เกิน 6 ต้น ก่อนจะงียบไปขณะนี้ และนายอนุทินเคยเป็นคู่แข่งบารมีทางการเมืองกับพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านโพลหลายสำนักมาแล้ว




แต่ต้องไม่ลืมว่า บ่อยครั้งที่ฝ่ายการเมืองจะมองต่างมุมกับประชาชนทั่วไป และสามารถสรรหาเหตุผลร้อยแปดมาอธิบายเพื่อโน้มน้าวประชาชนได้


จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากมักจะไม่เคยได้ยินนักการเมือง เอ่ยปากขอโทษแม้เกิดความผิดพลาดขึ้น อย่างมากที่สุด คือคำว่าเสียใจ เพราะคำว่า "ขอโทษ"ในทางการเมืองเท่ากับยอมรับว่าได้ทำผิด และจะกลายเป็นชนักติดหลังในประวัติบุคคลไปนานเท่านาน


เหมือนการถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมือง เป็นคนสั่งการ(ตัดสินใจ)ให้สายการบินประจำชาติต้องล้มละลาย ผ่านไปอีกสิบปีหรือร้อยปี ก็ยังจะถูกระบุถึงอยู่ดี


นักการเมืองจึงมักมองต่างจากประชาชนไงครับ