รายงานโควิด-19วันที่ 10 พ.ค.63 มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 ราย ยอดสะสมเป็น3,009 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ผู้ป่วยกลับบ้านได้อีก 7 รวมกลับไปแล้ว 2,794ราย เหลือรักษาในโรงพยาบาล 159 รายหรือ 5.28%ของผู้ป่วยทั้งหมด
ผู้ติดเชื้อ5 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้า 2 ราย อยู่ที่ จ.นราธิวาสและ กทม. อีก 3 ราย เป็นผู้กลับจากต่างประเทศกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ โดย 2 รายมาจากประเทศปากีสถาน 1 รายมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
การกักตัวผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ ทั้งที่อยู่ในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) และที่กักตัวตามจังหวัดต่างๆ (Local Quarantine) ยอดสะสม 15,699 คน ครบกำหนดกลับบ้านแล้ว 6,229 คน ยังคงกักตัวอยู่ 9,470 คน พบการติดเชื้อ รวม 90 คน ถึงวันนี้ การผ่อนปรนให้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 3พ.ค.63ผ่านมาได้ 8 วัน รอลุ้นการคลายล็อกระยะสองอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งมีเสียงเกรงว่า การให้คนออกไปทำภารกิจส่วนตัวได้ การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวัน จะอยู่ในอันดับต่ำสิบถึง 7 วัน ดังนี้ วันที่ 3 พค(3) วันที่ 4พ.ค.(18) วันที่ 5(1) วันที่ 6(1) วันที่ 7 (3) วันที่ 8(8) วันที่ 9(4)วันที่ 10 พ.ค.(5) รวม 43
ใกล้เคียงกับเกณฑ์พิจารณาการผ่อนปรน ที่ยอมรับการเพิ่มของผู้ติดเชื้อราวสัปดาห์ละ 30-40 คน
ส่วนการทำผิดกฎหมาย จากการแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่าการกระทำผิดประเภทฝ่าฝืนห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มขึ้น 827 คดีจาก 3,743 เป็น 4,570 คดี หรือเพิ่มขึ้น 22.09% การรวมกลุ่มมั่วสุมเพิ่มขึ้น 40คดี จาก 664 เป็น 704 คดี หรือ เพิ่มขึ้น 6.02% โดยการรวมกลุ่ม เป็นการทำผิดลักษณะตั้งวงดื่มสุรา เสพยาเสพติด และการเล่นการพนัน ที่แม้จะมีจำนวนคดีลดลง แต่กลุ่มผู้เล่นมีจำนวนคนมากขึ้น
คุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 แจ้งว่า ในการผ่อนปรนกิจการต่าง ๆนั้น มีข้อกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ที่ประชาชนมีช่องทางแจ้งข้อมูลกับบางกิจการที่เห็นไม่เหมาะสม และยังขอให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น กรอกแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้ พระราชกำหนด(พรก.)บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพราะแต่ละมาตรการ ต้องมี 3 ส่วนสำคัญร่วมกัน คือผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม ผู้ใช้บริการ/กิจกรรม และผู้กำกับดูแล เพื่อให้การผ่อนปรนระยะต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ
คุณหมอบอกว่า ช่วงสิ้นสุดเวลาประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกวันที่ 30 เม.ย.63 ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนที่ทำงานในจ.ภูเก็ตทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ทั้งจังหวัดนี้ก็เป็นพื้นที่เฝ้าจับตาเนื่องจากมีรายงานการพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ได้มีการกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 6 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ 2. ผู้ต้องขังแรกรับ หรือผู้ต้องกัก 3. คนขับรถสาธารณะ 4. พนักงานไปรษณีย์ หรือพนักงานส่งของ 5. แรงงานต่างด้าว และ 6. กลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น สถานบันเทิง ซึ่งจะต้องดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิด
การจะเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ จึงมีการทำแอปพลิเคชั่นช่วยติดตามสถานการณ์ โดยขอให้ประชาชนช่วยลงทะเบียนใช้ ในขณะนี้คือ “หมอชนะ” ที่คนทั่วไปดาวน์โหลดใช้ได้ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงของตนเองเป็นระยะ
แอปจะเปิดระบบบลูทรูธค้นหาบุคคลอยู่ใกล้ที่มีความเสี่ยงโดยอัตโนมัติ เมื่อพบก็จะแจ้งเตือน หรือหากผู้ใช้แอปเป็นผู้ติดเชื้อ ก็จะช่วยให้แพทย์สอบประวัติและรักษาพยาบาลได้เร็วขึ้น
สพร.หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)ยืนยันว่าจะไม่เผยแพร่ จำหน่าย จ่ายแจก แลกเปลี่ยน ถ่ายโอนข้อมูลส่วนตัวใดให้องค์กรภายนอกใด ๆ และเมื่อสิ้นสุดสถานการณ์ก็จะลบทำลายข้อมูลบนแอปให้ทันที
มีเทคโนโลยีเป็นเกราะมาช่วยกันโควิดแล้ว
แต่การอยู่ห่าง ล้างมือ และหน้ากาก ก็ยังจำเป็นอยู่นะ