สธ.ลุยชุมชนเรือนจำเชื้อลดจริง ซ้อมเปิดห้างก่อน 17 พ.ค.

2020-05-09 19:30:17

สธ.ลุยชุมชนเรือนจำเชื้อลดจริง   ซ้อมเปิดห้างก่อน 17 พ.ค.

Advertisement




ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 9 พ.ค.63 พบเพิ่ม 4 ราย รวมยอดสะสม 3,004 ราย หายป่วยแล้ว 2,787 ราย เสียชีวิตอีก 1 จึงมีผู้เสียชีวิตรวม 56 ราย


เส้นทางของผู้ติดเชื้อ รายแรกหญิงไทยอายุ 36 ปี ชาว กทม.สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายก่อนหน้า รายที่สอง หญิงไทยอายุ 28ปี พนักงานห้างที่ จ.ภูเก็ต เดินทางกลับภูมิลำเนา จ.ปราจีนบุรี รายที่สาม หญิงอายุ 41 รายที่สี่ชายอายุ 44 พบโดยการตรวจหาเชื้อเชิงรุก มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยรายก่อนหน้าที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย




การสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงสูงยิ่ง คนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่การระบาดมีโอกาสรับเชื้อกับเขาได้ คนในข่ายนี้จึงต้องระวังการสัมผัสสิ่งต่างๆ ล้างมือให้บ่อยกว่าคนอื่น


แต่โดยรวม จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 28 วันมากขึ้นเรื่อยๆ


ขณะที่ทั่วโลก ผู้ติดเชื้อขึ้นไปถึง4,012,848 ราย เสียชีวิตไป 276,000 กว่าราย สหรัฐอเมริกา เป็นอันดับหนึ่งมากกว่า 1.3ล้านราย เสียชีวิต 78,616 ราย ประเทศไทยอยู่อันดับ 66


การระบาดของโควิด-19 เกิดกับประเทศต่าง ๆ พร้อมกัน เรียนรู้ มีประสบการณ์ร่วม ประชากรโลกอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกเดียวกัน แม้การจัดการกับโรคและจำนวนผู้ป่วยจะต่างกัน แต่ความต้องการส่วนใหญ่เหมือนกัน บางประเทศผู้ติดเชื้อยังไม่หยุด การเสียชีวิตยังคงหลักหมื่น หลักพัน แต่คนก็อยากใช้ชีวิตกับสังคม มากกว่าจับเจ่าในบ้าน




คนไทย ซึ่งให้ความร่วมมือกับคุณหมอและรัฐบาลในการจัดการอย่างดี จนอัตราการติดเชื้อเหลือต่ำสิบมาสิบกว่าวัน อยากเห็นการคลายล็อกให้มากขึ้น เวลานี้ ยังในระยะที่หนึ่งจนถึงวันที่ 17พ.ค.63 ทำได้ดีเกือบครบสัปดาห์ จึงคิดข้ามช็อตไปถึงการเปิดระยะสอง ที่จะมีกิจการขนาดใหญ่ ลูกค้าเยอะอย่างห้างสรรพสินค้าควรจะเปิดได้


แต่ทั้งชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการสถานการณ์ของโลกก็อดหวั่นเกรงไม่ได้ว่าอาจทำให้ไวรัสแผลงฤทธิ์ขึ้นมาอีกได้


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริการสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.) แจกแจงกระบวนการว่า ตามไทม์ไลน์ วันที่ 8 – 12 พ.ค. เป็นช่วงการรับฟังความคิดเห็น วันที่ 13 พ.ค.ประเมินผลระยะที่ 1 วันที่ 14 – 15 พ.ค. ยกร่างข้อกำหนดใหม่การผ่อนคลายในระยะที่ 2


และทดลองด้วยการ Sandbox หรือหากลุ่มตัวอย่าง ทดลองเปิดให้บริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อสังเกตมาตรการที่ใช้ภายในห้างสรรพสินค้า การปฏิบัติตัวของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ มีข้อจำกัดอย่างไร เพื่อประเมินผลในวันที่ 16 พ.ค. หากประสบความสำเร็จ วันที่ 17 พ.ค. ก็จะประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะ 2 โดยจะต้องหารือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคงและภาคเอกชนเพื่อสร้างความมั่นใจหากเปิดแล้วจะไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น


เมื่อได้มติออกมาอย่างไรก็จะทำรายละเอียดให้ผู้ประกอบการจัดเตรียมมาตรการและสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในทางเดียวกัน


ความกังวลของชาวบ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดการด้วยข้อมูล กรมควบคุมโรคได้อธิบายการดูแลพื้นที่ กทม.ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ โดยออกค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกใน 4 กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มสถานที่แออัด ได้แก่ ชุมชนแออัด วัด เรือนจำ  กลุ่มหมู่บ้านจัดสรร  กลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในคลินิกอบอุ่น  กลุ่มผู้เดินทางทุกระบบ ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ผู้โดยสารสาธารณะ


ผลการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและสถานควบคุมโรคแห่งรัฐตั้งแต่วันที่ 15เม.ย. – 8พ.ค.63 รวม 9,516 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยงตามอาชีพ 4,820ราย เช่น ผู้เดินทาง รถรับจ้างสาธารณะ รถรับจ้างบุคคล บุคลากรของรัฐ และอื่น ๆ ได้แก่ ค้าขาย พนักงานบริษัท เกษตรกร นักศึกษา และกลุ่มสถานที่เสี่ยง 1,152 ราย ใน ชุมชนคลองเตย เรือนจำ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในคลินิกชุมชนอบอุ่น 2 แห่ง ในวัด (พระ/ผู้ดูแลอาราม และประชาชน) และกลุ่มหมู่บ้านจัดสรร




ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19ซักรายเดียวครับพี่น้อง


การตรวจค้นเชิงรุกกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ใช่นัดหมายเชิญหรือบังคับมา แต่เป็นการลงพื้นที่จริง ฝ่าฟันอุปสรรคระดับพื้นที่มากมายจนตรวจได้


จึงเชื่อว่า จำนวนผู้ป่วยที่รายงานการลดลงรายวันเป็นการลดจริงเชื่อถือได้


ส่วนบุคคลที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ก็มีระบบคัดกรองและกักตัวในพื้นที่แห่งรัฐ หากพบก็ดูแลรักษา ซึ่งที่ผ่านมาก็พบเป็นส่วนน้อย


ในชั้นนี้ หากจะคลายล็อกระยะต่อไปย่อมทำได้


แต่ประชาชนที่ไปใช้บริการ ทำกิจกรรมการงานนอกบ้านก็ต้องเคร่งครัดระมัดระวัง มีระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก


การ์ดอย่าตก