เมื่อติดโควิดแล้ว เป็นอีกได้หรือไม่?
อาจมีหลายคนสงสัยว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2 : ซาร์สโควีสอง)หรือที่เรารู้จักกันดีว่าโรคโควิด-19 นั้น สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่ หากเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ วันนี้เราจะเอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณากันค่ะ
หลังจากที่เราได้รู้จักโรคอุบัติใหม่โควิด-19 ซึ่งขณะนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก มีคนติดหลายล้านคน และเสียชีวิตหลายแสนรายแล้ว ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อหลักหลายพันคน และมีผู้เสียชีวิตและมีอาการหนักบางส่วน การตรวจวินิจฉัยและติดตามว่าหายจากโรคหรือไม่ ตามมาตรฐานขณะนี้คือการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสในร่างกายของมนุษย์ เช่น เสมหะ เยื่อบุจมูกหรือคอ และ สารคัดหลั่งต่าง ๆ ด้วยวิธีทางโมเลกุล หรือเรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อ โดยวัดระดับแอนติบอดี้ในร่างกาย ซึ่งนำมาใช้เป็นแนวทางประกอบกับการตรวจด้วยวิธีทางโมเลกุล และอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาใช้วินิจฉัยและติดตามผลในอนาคตต่อไป
ในขณะนี้มีผู้ป่วยหลายรายที่อาจมีสารพันธุกรรมของไวรัสซาร์สโควีสองซึ่งยังมีผลบวกเป็นเวลานาน หรือ อาจจะมีผลลบแล้วบวกกลับขึ้นมาอีก มีรายงานในวารสารทางการแพทย์สากล มีรายงานจากประเทศจีนว่ามีผู้ป่วยหญิงอายุ 46 ปีที่หายจากโรคแล้ว ทำการตรวจด้วยวิธีทางโมเลกุลแล้วเป็นลบสองครั้งก่อนที่จะกลับมาผลบวกอีก แม้ว่าจะไม่มีไข้และอาการทั่วไปปกติดีแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ว่า สารพันธุกรรมที่ตายแล้ว ยังอยู่ในระบบร่างกายและไม่ก่อให้เกิดเชื้อโรค แต่ยังพอพบได้เมื่อใช้การตรวจด้วยวิธีทางโมเลกุลอย่างละเอียด (เอกสารอ้างอิงที่ 1) นอกจากนี้ยังรายงานอีกฉบับ ที่มีผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วอีก 6 รายมาตรวจซ้ำแล้วมีผลการตรวจโดยวิธีทางโมเลกุล โดย 4 รายไม่มีอาการ 1 รายมีอาการไอเล็กน้อย และอีก 1 รายมีอาการที่ชัดเจน ได้แก่ เหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ไอมีเสมหะ เป็นต้น (เอกสารอ้างอิงที่ 2)
นอกมีผู้ป่วยหลายรายที่มาตรวจหลังจากหายแล้ว ว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ แต่ขณะนี้ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะบอกว่าภูมิคุ้มกันนี้จะมีไปนานเท่าไร ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่เป็นและหายแล้ว ปฏิบัติตัวตามมาตรการแยกตัวจากผู้อื่น (self-isolation) เป็นเวลา 30 วันนับจากวันแรกที่มีอาการ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและในสถานที่พักอาศัย เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว หากไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ใช้มาตรการทางสังคมโดยรักษาระยะห่างทางกายภาพกับผู้อื่น (social distancing) สวมหน้ากากอนามัย ดูแลสุขอนามัยและสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงต่อไป หากมีอาการซ้ำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม
แหล่งอ้างอิง
1. Chen D, et al. Recurrence of positive SARS-CoV-2 RNA in COVID-19: a case report. International Journal of Infectious Diseases. March 2020
2. Jiang, M. Recurrent PCR positivity after hospital discharge of people with coronavirus disease 2019 (COVID-19). Journal of Infectious Diseases. April 2020
อาจารย์ พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
.