รายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 7 พ.ค.63 ยังคงต่ำกว่าสิบอีกครั้ง ด้วยจำนวนเพียง 3 ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิต
ทั้ง 3 เป็นคนไทย รายหนึ่งเป็นหญิงที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายก่อนหน้า อีก 2 เป็นแรงงานที่กลับจากต่างประเทศ อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ และทำให้ต้องดูแลผู้โดยสารที่เดินทางร่วมในเครื่องบินลำเดียวกันอีก 55 คนด้วย
ยอดสะสมของผู้ป่วย เพิ่มเป็น 2,992 ราย รักษาหายอีก 11 รวมจำนวนผู้ที่หายป่วย 2,772 ราย
ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,822,860 ราย เสียชีวิตกว่า265,000 ราย ที่รักษาหายแล้ว ประมาณ 1,300,000 ราย สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ราว 1,200,000 ราย แต่ละวันเพิ่มถึง 25,000ราย และอีกหลายประเทศในยุโรป เพิ่มในอัตรากว่า 10,000รายต่อวัน กลุ่มอาเซียนและเอเชีย จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม อินเดียเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 50,000 กว่าราย รองลงมา ปากีสถาน 24,000 ราย สิงคโปร์ 20,000 ราย ญี่ปุ่น 15,000 ราย อินโดนีเซีย 12,000 ราย ไทยอยู่ท้ายตารางอันดับที่ 64 แต่ความที่รอบประเทศและทั่วโลกยังไม่ปลอดภัย ก็ต้องสร้างเกราะ ตั้งการ์ด ระวังทั้งภายนอกและป้องกันภายในไม่ให้เล็ดลอดดอดเข้ามาเพิ่ม แต่เมื่อสภาพการติดเชื้อและการรักษาผู้ป่วยทำได้ดี จนพอจะเบาใจได้แล้ว การผ่อนปรนมาตรการป้องกัน เปิดให้ดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ก็ต้องขยายตัว ด้วยเงื่อนไขที่เข้มงวดแต่ปฏิบัติได้ด้วยความเต็มใจ ต้องคำนึงว่า ทุกอย่างเป็นภาระและต้นทุนของทุกฝ่าย เช่น การให้มีระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร ซึงผิดวิสัยความคุ้นเคยหรือวัฒนธรรมการใช้ชีวิต ขัดกับรูปแบบอาคาร สถานที่ หรือบริการต่าง ๆ ร้านอาหารเคยนั่งได้โต๊ะละ 2-4 คน ให้เหลือคนเดียว หรืออยู่ห่างกัน พื้นที่ไม่พอ รถ เรือโดยสาร ระบบขนส่งมวลชนได้ 100 คนจะให้เหลือ 20 จำนวนรถก็ต้องเพิ่ม รถตู้เคยนั่งได้ 14 ถ้าต้องเว้นระยะห่างแล้วไปได้แค่ 5 คน ก็เกิดปัญหาทั้งการเดินทางและค่าตอบแทนของผู้ประกอบการที่จะอยู่ไม่ได้ รัฐต้องช่วยพิจารณา เยียวยา หาทางออกร่วมกัน แทนการกำหนดมาตรการประกอบการผ่อนปรนที่สร้างความอึดอัด เอาแต่กำราบ หรือกำกับด้วยคำขู่จะปิดกิจการ โดยย้ำว่า ให้ร่วมกันพิจารณา อีก 3 เดือนข้างหน้า จะดำเนินมาตรการอย่างไร ต้องช่วยเหลือ เยียวยา และย้ำให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจให้ตรงกัน ผ่านชุดข้อมูลเดียวกัน เพื่อป้องกันการบิดเบือน ไม่ให้เกิดความสับสนในสังคม สำหรับการผ่อนปรนให้กิจการบางชนิดดำเนินการ มีเวลาระยะละ 14วัน เริ่ม ช่วงแรกวันที่ 3พ.ค.63 ถึงวันที่ 17พ.ค.63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แจ้งปฏิทินเตรียมการระยะที่สองว่า ระหว่างวันที่ 8-12พ.ค. เป็นช่วงรับฟังความเห็นของมาตรการที่ประกาศไปแล้ว โดยพิจารณาข้อมูลเชิงสถิติ สถานการณ์และความคิดเห็น วันที่ 13พ.ค.จะซักซ้อมความเข้าใจ วันที่14พ.ค.ยกร่างข้อกำหนดมาตรการผ่อนปรนระยะสอง และนำเสนอนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเลขพุ่งขึ้นมากกว่านี้ วันที่ 17 พ.ค.ก็จะเริ่มมาตรการระยะที่สอง มาตรการนี้ไม่ได้เปิดเฉพาะห้างสรรพสินค้า หากผู้ประกอบการมีมาตรการที่ดี มีความพร้อม ร่วมกลุ่มกันหรือเป็นสมาคมหรือองค์กรเพื่อจัดทำมาตรการตรวจสอบกันและกัน ถือเป็นการทำงานร่วมของภาครัฐและเอกชน โดยประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น โดยย้ำว่าผลจะออกมาอย่างไรขึ้นกับความร่วมมือของทุกคนทั้งผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บริการ
ไม่ใช่พูดกับลม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงความสมดุล และสร้างความเชื่อมั่น การช่วยเหลือเยียวยาต้องทำควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข ไม่ใช่เพียงตัวเลขผู้ป่วยที่ลดลงแต่ต้องร่วมช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบ มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต ต้องดูแลรอบด้าน ไม่ให้เกิดปัญหาท่ามกลางภาวะโควิด
ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ที่ผู้ประกอบการ ประชาชน ควรร่วมเสนอความเห็น เพื่อป้องกันการกำหนดเงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ยาก
รัฐก็ควรเปิดกว้าง เช่นให้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารสองทางถึงรัฐ เพื่อแสดงความพร้อมรับฟังความเห็น ด้วยช่องทางที่ทำให้เชื่อว่า จะถึงหูของผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง