ต่ำสิบสิบวันแต่ไม่คลายเข้ม คนอยากปลดล็อกเริ่มออกเสียง

2020-05-06 21:10:39

ต่ำสิบสิบวันแต่ไม่คลายเข้ม  คนอยากปลดล็อกเริ่มออกเสียง

Advertisement



ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ วันที่ 6 พ.ค.63 มี 1 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,989 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย รวม 55 ราย


ผู้ป่วยติดเชื้อรายล่าสุด เป็นหญิงอายุ 27 ปี อาชีพพนักงานนวด เดินทางกลับจากประเทศรัสเซีย วันที่ 3 พ.ค. 63 ซึ่งมีผู้โดยสารบนเครื่องบินรวม 70 คน เข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ในจังหวัดสมุทรปราการ ตรวจพบว่ามีไข้ จึงส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล มีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย การพบผู้ป่วย ที่แยกกักตัวตั้งแต่ต้นจึงตัดความเสี่ยงต่อผู้ที่จะสัมผัสได้ ส่วนผู้เสียชีวิต เป็นชาย สัญชาติออสเตรเลีย อายุ69ปี อาชีพผู้จัดการโรงแรมที่ จ.พังงา เริ่มป่วยวันที่ 25มี.ค.63 หลังจากนั้น เข้าโรงพยาบาล อาการรุนแรง มีโรคแทรกซ้อนทางไต เสียชีวิตวันที่ 5พ.ค.63


ผู้ป่วยที่รักษาหาย กลับบ้านได้เพิ่มอีก 14 ราย จึงเหลืออยู่ใน รพ. 173 ราย




สำหรับผลการตรวจเชิงรุกที่จังหวัดยะลา และมีรายงานช่วงแรกว่าพบผู้ติดเชื้อ 40 ราย แต่ตรวจซ้ำโดยห้องปฏิบัติการอีกแห่ง ไม่มีการติดเชื้อ จึงส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า ทั้ง 40 รายนั้น ไม่พบผู้ป่วยยืนยันเลย


จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่าสิบคน ปรากฏครั้งแรกวันที่ 27เม.ย.63 และคงตัวเลขลดลงติดต่อกันทุกวันจนถึงวันที่ 4พ.ค.63 ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้น 18 ราย ซึ่งมีคำชี้แจงว่า เป็นต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่อยู่ในศูนย์กักกัน อ.สะเดา จ.สงขลา ไม่มีคนไทย บางรายถึงกับระบุว่า จำนวนเป็นศูนย์ และหลังจากนั้นจนวันนี้ สถิติก็ต่ำสุดเพียง 1 ราย


นับจากวันที่ 27เม.ย.-6พ.ค.63 เป็นเวลา 10 วัน ที่การติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าสิบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทุกฝ่ายอย่างเห็น และเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้การคลายล็อกเกิดขึ้น


เส้นกราฟแสดงความเคลื่อนไหวของคนไข้ ทำให้อารมณ์วิตกที่มีต่อโรคคลายตัว แต่เกิดความเครียดสวนขึ้นมา เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบจากมาตรการต่าง ๆโดยเฉพาะการหยุดกิจการหลายอย่าง




การอยู่กับบ้าน แม้จะต้องเวิร์กฟอร์มโฮม นานเข้าก็เริ่มเบื่อ


การผ่อนคลายบางอย่างมีเงื่อนไขที่ขัดกับวิถีปกติที่ควร เช่น ให้ออกกำลังกายในสวนสาธารณะ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ขณะที่กรมอนามัยเตือนว่าทำอย่างนั้นเสี่ยงจะได้รับออกซิเจนไม่พอ


ชวนให้สับสนในมาตรการและการผ่อนคลายเป็นอย่างยิ่ง


ปฏิกิริยาจากคนที่มีสถานะทางสังคม เริ่มสื่อสารแสดงความไม่เห็นด้วยกับการคงมาตรการควบคุมกิจการตลอดจนการใช้ชีวิตเพื่อลดการติดเชื้อ อาทิ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ที่โพสต์ความเห็น เรื่อง เราจะเอาแชมป์โลกไปทำอะไร? ใจความตอนหนึ่งว่า “Flatten the Curve”คือกลยุทธสำคัญที่ประกาศไว้ …ลืมแล้วเหรอครับ เราต้องการชะลอการติดโรค ไม่ให้คนป่วยล้นfacilityที่มี เราต้องการชะลอโรครอวัคซีน …วันนี้curveมันflatเสียจนแบนแต๋แล้ว จะเอาไปถึงไหนครับ อย่าลืมว่าต้นทุนมันสูงมากนะครับ โดยเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจ กับคนด้อยโอกาสที่ยังสร้างตัว ไม่สามารถเก็บออมได้พอ


ผ่อนคลายให้มาก ๆ เถอะครับ ถ้ามันกลับมาก็ค่อยว่าไปตามสถานการณ์


หรือความเห็นของพิธีกรข่าวโทรทัศน์บางช่อง ที่เรียกร้องต่อเนื่องให้เปิดโรงเรียน เพราะเป็นการตัดสินใจที่ผิด ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศไม่เอาอีเลิร์นนิง หรือทีวีเลิร์นนิงกันแล้ว


ความเห็นแบบนี้ ถึงจะเป็นรายบุคคล ไม่ใช่การเรียกร้อง กดดันด้วยกลุ่มมวลชน แต่บางคนก็เป็นเชื่อถือในแวดวงทางเศรษฐกิจ การเมือง จึงควรเป็นสิ่งที่รัฐจะใส่ใจรับฟังหรือนำไปปรับ และทำความเข้าใจร่วมกันว่า การจะให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดจำนวนจนเหลือศูนย์ติดต่อกันยาวนานต่อไป คงไม่ใช่สิ่งดีที่สุด




มาตรการที่จะกำหนดต่อจากนี้ ควรอยู่บนพื้นฐานที่คนในสังคมจะใช้ชีวิตร่วมกับโรคนี้อย่างไร


ทำมาหากิน หรืออยู่กันแบบไหน จึงเสี่ยงน้อยที่สุด


วิถีใหม่หรือนิว นอร์มอล มีเส้นแบ่งที่จุดใด และถ้าฝ่าฝืนต้องจัดการยังไงให้ลงตัว