"มาดามเดียร์-กรณิศ" ลุยแจกถุงยังชีพ ชาวบ้านวอนช่วยแก้หนี้นอกระบบ

2020-05-06 17:40:44

"มาดามเดียร์-กรณิศ" ลุยแจกถุงยังชีพ ชาวบ้านวอนช่วยแก้หนี้นอกระบบ

Advertisement

"มาดามเดียร์-กรณิศ" แจกถุงยังชีพช่วยผู้ป่วยติดเตียง พิการ คนตกงาน ย่านชุมชนสวนอ้อย ชาวบ้านร้องให้ช่วยแก้หนี้นอกระบบ 

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. เขตคลองเตย-ทวีวัฒนา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)  และนายพริษฐ์ จิตตโรภาส บุตรชายนางกรณิศ ลงพื้นที่ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย มอบถุงยังชีพกว่า 100 ชุด ให้แก้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการและคนยากไร้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งตกงาน ขาดรายได้ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ได้รับความลำบากและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก 


โดย น.ส.วทันยา นางกรณิศ และนายพริษฐ์ ใช้วิธีเดินแจกตามบ้าน เพื่อไม่ให้ประชาชนมารวมตัวกัน ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากแจกถุงยังชีพแล้วยังพูดคุยรับฟังปัญหา เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งให้กำลังใจในการผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ในระหว่างการแจกของนางสุรีรีตน์ สร้อยทอง ได้บอกเล่าถึงความเดือดร้อนจากการเป็นหนี้นอกระบบกว่า 1 แสน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ย ร้อยละ10-15 เดือนหากไม่มีจ่ายก็จะถูกทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ ได้รับความเดือดร้อนไปจำนวนมาก จึงอยากให้ช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาผ่อนปรนกับเจ้าหนี้ อย่างไรก็ตามโชคดีที่ยังได้รับเงินเยียวยา 5,000 จากรัฐบาล ก็พอจะช่วยได้บ้าง นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐบาลเติมเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน หรือ สหกรณ์ของชุมชน เพราะดอกเบี้ยถูกกว่ากองทุนหมูบ้าน


หลังแจกถุงยังชีพเสร็จ น.ส.วทันยา และนางกรณิศ ได้ล้อมวงโดยเว้นระยะห่าง เพื่อรับฟังปัญหาที่ต้องการให้ช่วยแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่คือปัญหาหนี้ระบบ  นางจินตนา ทิพวัตร กล่าวว่า ตนเองเป็นพนักงานร้านอาหาร แต่พอเกิดการแพร่ระบาดของโตวิด-19 ร้านก็ถูกสั่งปิด ตอนนี้ไม่มีรายได้ จึงต้องไปกู้หนี้นอกระบบเพิ่ม จากที่เดิมที่เป็นหนี้อยู่แล้ว ทำให้ยอดหนี้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าเล่าเรียนลูก ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องส่งดอเบี้ยร้อยละ 20 เคยต้องส่งดอกเบี้ยวันละ 3,000 บาท จากเงินต้น 70,000 กว่าบาท ถามว่าอยากกู้นอกระบบมั้ย เราไม่อยากกู้หรอก แต่เราไม่มีทางเลือก เพื่อปากท้องของเราและคนที่อยู่ข้างหลัง เราก็ต้องกู้มาใช้จ่าย เพราะเราจน กู้ในระบบไม่ได้"

ด้านนางสุกัญญา พันธ์ุมี อาชีพค้าขายที่ตลาด บอกว่า ต้องกู้เงินมาเช่าแผงและลงของ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารซึ่งก็เปิดร้านไม่ได้ เลยไม่มาซื้อ กลายเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ ตอนนี้กำลังตัดสินใจว่าจะเช่าต่อหรือไม่เพราะรายรับไม่พอรายจ่าย มีรถต้องผ่อน ลูกเรียนหนังสือและพ่อป่วย


น.ส.วทันยา กล่าวว่า วันนี้เรามารับฟังปัญหาแล้วในฐานะ ส.ส.ก็จะไปผลักดัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และหาช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ โดยเสียงของทุกคนวันนี้จะถูกสื่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่รัฐบาลก็กำลังเร่งหาแนวทางช่วยเหลือให้คลอบคลุมกับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกกลุ่ม แต่อาจจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนตัว ก็ขอเป็นกำลังใจ แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยแต่ก็ตั้งใจอยากทำเพื่อพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนในฐานะ ส.ส.  นอกจากนี้เชื่อมั่นว่า หากคนไทยทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล ก็จะสามารถช่วยกอบกู้เศรษฐกิจให้ดีขึ้น และฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

ด้านนางกรณิศ กล่าวว่า จะไปหาช่องทางในการแก้ปัญหา เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบจำนวนมาก เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ดังนั้นจะไปหาช่องทางช่วยเหลือให้เข้าถึงให้ได้ เพราะหนี้นอกระบบถือเป็นทุกข์ของคนจนจริงๆ ที่ต้องเจอ หาเงินได้มาก็ต้องเอามาส่งดอก ต้นก็ไม่หมดไป ดังนั้นจะขอรับไปผลักดันให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องออกมาตรการที่้เป็นรูปธรรม และจะนำไปหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน