กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรอย่าเพิ่งทำนาปี รอฝนมาชัวร์ก่อน 3 เขื่อน “ลำนางรอง-ลำแชะ-แม่กวง” น้ำยังน้อย วอนประชาชนประหยัดน้ำ
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือน ระหว่าง พ.ค.-ต.ค.2563 กรมชลประทานประเมินจะเกิดสถานการณ์ลานีญาอ่อน ๆ หรือปริมาณฝนตกชุกในบางพื้นที่ แม้กรมอุตุนิยมวิทยา จะประเมินปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศจะต่ำกว่าค่าปกติ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าตลอดฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำต้นทุนในวันที่ 1 พ.ย.2563 ปริมาณมากกว่าปีก่อนหน้า 3,500-5,000 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ฝนปี 2563 จะคล้ายปี 2538 ที่มีฝนตกทางตอนบนค่อนข้างมาก กรมชลประทานได้เตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำหากมีฝนตกในพื้นที่ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ดังนี้ คือเดือน พ.ค.ปริมาณฝนปกติ เดือน มิ.ย.ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและตะวันตก ปริมาณฝนปกติ ภาคอีสานและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนต่ำกว่า ค่าปกติ ส่วนกรุงเทพ ฯ และปริมาณฑล ฝนตกสูงกว่าค่าปกติ เดือน ก.ค.ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติและหลังจากนั้นปริมาณฝนก็ต่ำกว่าค่าปกติไปจนถึงสูงกว่าค่าปกติกระจายในทุกภาค
ทั้งนี้ 1 พ.ย. มีเขื่อนเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย 31-50 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนเก็บน้ำลำแชะ จังหวัดนครราชสีมาและเขื่อนเก็บน้ำแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีระดับน้ำต่ำว่าระดับควบคุมตอนบน (Upper Rule Curve) แต่คาดว่าเมื่อผ่านฤดูฝนนี้ไปเขื่อนอุบลรัตน์จะกลับมามีปริมาณน้ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของความจุเขื่อนฯ
“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งทั้งปีแต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว รวมถึงจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงเดือน ส.ค. -ก.ย.จะมีปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งจะช่วยให้คลี่คลายภัยแล้ง ได้ในระดับหนึ่งแต่ประชาชนยังต้องช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยหาภาชนะมาเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อาทิ ถังน้ำ และโอ่ง ” นายทวีศักดิ์ กล่าว
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า กรมชลประทานขอความร่วมมือกับเกษตรกรที่เตรียมทำนาปี ให้รอกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการก่อนจึงค่อยทำการเพาะปลูก เพื่อการทำนาปี ประชาชนใช้น้ำฝน หรือน้ำที่อยู่ในแม่น้ำลำคลองมาใช้ให้มากที่สุดเพื่อเก็บน้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป มีเพียงในเขตชลประทานในบางพื้นที่ ได้แก่เขตที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำปาว เขื่อนน้ำอูน เขื่อนแม่กวง เขื่อนสิรินธร เป็นต้น ที่สามารถทำนาปีได้โดยไม่ต้องรอกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าฤดูฝน เพราะน้ำต้นทุนและฝนที่ตกลงมาเติมสามารถสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวได้เลย
สำหรับคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่าง ในช่วง 6 เดือนถึง 1 พ.ย.2563 กรมชลประทานคาดการณ์จากแบบจำลองสถานการณ์น้ำ 5 กรณีประกอบด้วย 1. น้ำมากกว่าค่าปกติ หรือค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 60,781 ล้าน ลบ.ม. หรือ 86เปอร์เซ็นต์ ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 37,239 ล้าน ลบ.ม. หรือ 79เปอร์เซ็นต์ ของความจุ 2. น้ำใกล้เคียงค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 52,452 ล้าน ลบ.ม.หรือ 74เปอร์เซ็นต์ ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 28,910 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61เปอร์เซ็นต์ ของความจุ 3. น้ำน้อยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 36,794 ล้าน ลบ.ม.หรือ 52เปอร์เซ็นต์ ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 13,252 ล้าน ลบ.ม. หรือ 28เปอร์เซ็นต์ ของความจุ 4. กรณี Inflow 2538 ค่าเฉลี่ยจะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 55,905 ล้าน ลบ.ม. หรือ 79เปอร์เซ็นต์ ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 32,363 ล้าน ลบ.ม.หรือ 68 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ และ 5. กรณีน้ำไหลเข้าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย (AVG)-5 ตามที่กรมอุตุฯ พยากรณ์ฝนทั้งปีไว้ว่าจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5เปอร์เซ็นต์ จะมีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 50,946 ล้าน ลบ.ม. หรือ 72เปอร์เซ็นต์ ของความจุ จะมีน้ำใช้การได้ 27,403 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58เปอร์เซ็นต์ ของความจุ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินงานในแต่ละโครงการ กรมชลประทาน ได้ร่วมกับ 38 หน่วยงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานประจำท้องถิ่นทั่วประเทศ และภาคประชาชน ซึ่งรูปแบบการทำงานของกรมชลประทานจะบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อดูแลได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ส่วนในเรื่องของความกังวลเรื่องน้ำประปาขาดแคลนเหมือนในอดีต เชื่อว่าในปัจจุบันจะไม่ประสบปัญหาดังกล่าวอีก เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดยุทธ์ศาสตร์น้ำขึ้นมาโดยมีหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูแลในแต่ละภาคส่วนแล้ว