"ดร.รยุศด์" แนะ 3 ข้อ หากรัฐบาลอุ้มการบินไทย ต้องดึงเอกชนร่วมทุน ปรับโครงสร้างผู้บริหาร ระบบการให้ผลตอบแทน ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ดร.รยุศด์ บุญทัน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย กล่าวถึงกรณีที่อาจจะมีการนำเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง เข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับบริษัทจนถึงสิ้นปี 2563 ว่า การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติที่มีกระทรวงการคลังหรือรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นหลักกว่า 51.03 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสังคมต่างคาดหวังว่าการบินไทยจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้ผลตอบแทนหรือสร้างกำไรสูงแก่ประเทศ แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม การบินไทยขาดทุนต่อเนื่องกันหลายปี เช่น ผลการดำเนินงานในปี 2562 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 11,569 ล้านบาทและปี 2560 ขาดทุน 2,072 ล้านบาท มีหนี้สะสมนับแสนล้านบาท
ดร.รยุศด์ กล่าวต่อว่า สังคมต่างตั้งคำถามว่าทำไมการบินไทยถึงขาดทุนได้มากขนาดนี้ ทั้งๆที่หลายเส้นทางการบิน และเที่ยวบินส่วนใหญ่ก็มีผู้โดยสารหนาแน่นตลอด ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ให้ลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงจะพบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการบินไทย ถูกอำนาจทางการเมืองแทรกแซงมากที่สุดองค์กรหนึ่ง จนทำให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง แม้บางยุคบางสมัยจะมีนักบริหารมืออาชีพเข้ามา แต่ก็ทนแรงเสียดทานทางการเมืองไม่ไหว จึงทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ล้มเหลวทั้งในเชิงธุรกิจ และเชิงการยอมรับ ยังไม่รวมถึงประเด็นการทุจริตในโครงการต่างๆที่มีลับลมคมในเช่น การซื้อขายเครื่องบิน การให้โบนัสจำนวนมากแก่ผู้บริหารและพนักงานการบินไทยบางตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในรากของปัญหาที่ต้องเอามาพิจารณาให้หนักว่า เงินแต่ละบาทที่รัฐบาลจะอุ้มการบินไทยซึ่งเป็นเงินภาษีจากหยาดเหงื่อแรงงานของพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจะเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่
ดร.รยุศด์ กล่าวด้วยว่า ตนและพรรคสามัคคีไทยจึงมีข้อเสนอแนะ หากรัฐบาลจำเป็นต้องอุ้มการบินไทยดังนี้ 1.ฝ่ายการเมืองต้องห้ามแทรกแซงกิจการ และการบริหารงานภายในของการบินไทย เพื่อให้บริษัทได้มีการดำเนินการด้วยบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้วยตนเอง และทำให้สามารถบริหารงานได้ในระยะยาวมากขึ้น
2.รัฐจำต้องปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ภาคเอกชน และทำการเพิ่มทุน โดยให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เข้ามามีบทบาทในบริหารการบินไทย จึงจะทำให้บริษัทมีเงินสดเพียงพอในการบริหารงานที่เป็นไปตามรูปแบบองค์กรที่สร้างผลกำไร และเพื่อทำให้สายการบินแห่งชาตินี้ได้ไปต่อ
3.ปรับโครงสร้างผู้บริหาร และระบบการให้ผลตอบแทนของการบินไทยใหม่ทั้งหมด ลดขนาดองค์กร Re-skill พนักงาน โดยใช้การบริหารจัดการแบบที่เรียกว่า Flexible Rightsizing เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและยังสามารถลดภาระหนี้สินได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามการต่อลมหายใจเป็นสิ่งที่ควรทำไม่เฉพาะเพื่อการบินไทย แต่รวมถึงพนักงาน และลูกจ้างอีกจำนวนมากที่ช่วยขับเคลื่อนสายการบินแห่งชาตินี้มา แต่ตอนนี้เราก็เพียงได้แต่หวังว่าปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน ของการบินไทยคงได้รับการแก้ไข และหลังจากนี้เราต้องมองภาพอนาคตข้างหน้า ภายใต้การบริหารของภาคเอกชนมืออาชีพที่จะช่วยฟื้นฟูสายการบินแห่งชาติ ให้กลับมารักคุณเท่าฟ้าได้อีกครั้ง