ยานแคสซินี ปิดฉากภารกิจสำรวจดาวเสาร์ 20 ปี แล้วเมื่อวานนี้ หลังยานลำนี้ พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ ก่อนถูกเผาไหม้เป็นจุณ และสัญญาณวิทยุดับลง
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า ยานสำรวจดาวเสาร์ “แคสซินี” พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแก๊สของดาวเสาร์ ด้วยความเร็ว 122,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วเมื่อเวลา 7.55 น. ของวันศุกร์ ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 18.55 น. ตามเวลาในไทย หลังสัญญาณวิทยุจากยานแคสซินี ขาดหายไป เป็นการปิดฉากภารกิจ 20 ปี ของปฏิบัติการสำรวจดาวเสาร์และบริวาร ของยานลำนี้ ซึ่งเป็นยานลำที่ 4 ที่เดินทางถึงดาวเสาร์ แต่เป็นลำแรกที่เข้าสู่วงโคจรของดาวเสาร์ได้
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ยานแคสซินีทำให้รู้เรื่องของดาวเสาร์เกือบทุกอย่างในวันนี้ และสอนวิธีคิดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะด้วย
แคสซินี เป็นโครงการร่วมนานาชาติ มูลค่า 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท มีนักวิทยาศาสตร์จาก 27 ประเทศร่วมมือกัน ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2540 และใช้เวลาเกือบ 7 ปีจึงเดินทางถึงจุดหมายวงโคจรรอบดาวเสาร์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 และใช้เวลาสำรวจดาวเสาร์อยู่อีก 13 ปี
นอกจากยานแคสซินีแล้ว ยังมียานอวกาศอีก 3 ลำที่เดินทางผ่านดาวเสาร์ นั่นคือ ยานไพโอเนียร์ 11 (Pioneer 11) ในปี 2522 ตามมาด้วยยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) และวอยเอเจอร์ 2 ในช่วงปีทศวรรษ 1980 แต่ไม่มียานลำใดที่ศึกษาดาวเสาร์ได้ละเอียดเท่ายานแคสซินี