โฆษก ศบค. เผยคลินิกเสริมความงาม ผับ บาร์ ยังคงปิดบริการ เนื่องจากใช้เวลาทำกิจกรรมในสถานที่ดังกล่าวนาน วอนประชาชนยังคงเน้นการควบคุมโรคเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงการให้บริการของสถานเสริมความงาม แม้บางแห่งมีการจดทะเบียนเวชรกรรมถูกต้อง ตามราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนดฉบับที่ 5 (6) ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ว่า คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม เป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องมีคำสั่งปิดสถานที่เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากอธิบดีกรมควบคุมโรคมีความเห็นว่า กิจการ กิจกรรมที่ทำในคลินิกเวชกรรมเสริมความงามนั้นใช้เวลานาน และถือว่ามีความจำเป็นน้อย จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ โรงมหรสพ สถานบริการ ผับ บาร์ เป็นต้น ยืนยันว่ายังไม่สามารถให้กลับมาให้บริการได้
โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงข้อมูลและความแม่นยำผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 18 รายที่ จ.สงขลา ว่า หลักการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น หากมีการตรวจในคนหมู่มาก ย่อมมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มศักยภาพในการตรวจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับทุกคนจะเป็นการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เช่นกรณีจังหวัดยะลาที่ตรวจไป 3,000 กว่าคน แต่บางอำเภอไม่พบผู้ป่วยเลย โฆษก ศบค. ยืนยันการใช้ชุดข้อมูล สถิติ เพื่อระบุกลุ่มเสี่ยงในการตรวจเป็นวิธีที่ยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อดำเนินการในส่วนนี้
โฆษก ศบค. ยังแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความแออัด ขอให้เข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะต้องสร้างความปลอดภัยได้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติตนตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา หากร่วมมือกัน ยึดหลักมาตรการป้องกันโรคตามประกาศ ทั้งการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การเว้นระยะห่าง และลดความแออัด มาตรการดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้ประสบสำเร็จได้ ซึ่งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ให้ได้ร้อยละ 100 เพื่อทำให้จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อกลายเป็นศูนย์ ติดต่อกันอย่างน้อย14 วัน จึงจะมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ เพื่อเราจะเข้าสู่ระยะต่อไปได้และมีอิสระในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น
โฆษก ศบค. ยังตอบคำถามที่ว่า หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะมีมาตรการเข้มงวดขึ้นหรือไม่นั้น ว่า ศบค. มีการจัดเก็บชุดข้อมูลในรูปแบบของสถิติ ข้อมูลชุดพฤติกรรมที่มีการผ่อนปรนจะสอดคล้องกับชุดข้อมูลยืนยันผู้ติดเชื้อจากห้องปฏิบัติการ เมื่อปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนแล้ว หากพบจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อลดลง ก็สามารถขยับมาตรการผ่อนปรนต่อไปได้ แต่หากจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อมีเพิ่มขึ้น จะต้องทบทวนมาตรการต่างๆ อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้รับบริการและผู้กำกับติดตามของภาครัฐ ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน จะสร้างความปลอดภัยให้แก่เราได้