"เทพไท" วอนรัฐบาลผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มดิบ-ยางพารา

2020-05-04 14:00:38

"เทพไท" วอนรัฐบาลผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มดิบ-ยางพารา

Advertisement

"เทพไท" วอนรัฐบาลผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ช่วยพี่น้องเกษตรกรในภาวะวิกฤตโควิด-19 พร้อมผลักดันนโยบายการใช้ยางพารา 

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  ได้เฟซบุ๊กไลฟ์ถึงการลงพื้นที่พบปะกับพี่น้องประชาชนในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า นอกจากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาปาล์มน้ำมัน ลดเหลือกิโลกรัมละ 2.50 บาท ราคายางพารา น้ำยางสดกิโลกรัมละ 35 บาท แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ที่ราคาปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 4 บาทยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาทก็ตาม แต่เกษตรกรต้องการขายในราคาที่เป็นจริงตามท้องตลาดเท่ากับราคาประกันของรัฐบาลมากกว่า เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลสิ้นเปลืองงบประมาณในการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก สำหรับราคาปาล์มน้ำมันที่ลดลงมีส่วนเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำให้การใช้น้ำมันปาล์ม เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลน้อยลงด้วย ตนเห็นด้วยกับการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ช่วยเร่งรัดนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบต่างๆเกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อไปทำพลังงานไฟฟ้า เป็นการช่วยดึงปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากตลาดได้ และช่วยเปิดช่องให้ราคาปาล์มดิบมีโอกาสปรับตัวสูงตามกลไกตลาดด้วย เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์

นายเทพไท กล่าวต่อว่า อยากจะให้รัฐบาลได้ผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มดิบอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในช่วงภาวะวิกฤตไโควิด-19ด้วยส่วนราคายางพาราตกต่ำนั้น อยากให้รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายการใช้ยางพารา ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนนลาดยางของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ทั่วประเทศด้วย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พี่น้องเกษตรกรประสบความเดือดร้อน การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล ครัวเรือนละ 15,000 บาทนั้น เป็นการช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้น ส่วนการช่วยเหลือในระยะยาวหลังจากพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 แล้ว อยากให้รัฐบาลได้เตรียมแผนงานรองรับเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรแบบยั่งยืนต่อไป