14 วันชี้ชะตาล็อกโควิด ออกบ้านเสี่ยง ข้ามจังหวัดถูกกัก

2020-05-02 20:40:32

14 วันชี้ชะตาล็อกโควิด ออกบ้านเสี่ยง ข้ามจังหวัดถูกกัก

Advertisement


ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ วันที่2พ.ค.63 พบ6 คน ยอดสะสม 2,966 รักษาหายกลับบ้านแล้ว2,732 คน ไม่มีรายงานการเสียชีวิตเพิ่ม


ยังอยู่ในโรงพยาบาล 180 คน


จำนวน 6 รายนี้ เป็นสถิติต่ำสิบติดต่อเป็นวันที่หกแล้ว โดยแหล่งติดเชื้อ 2 ราย จากการสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า อีก2 ราย พบด้วยวิธีตรวจเชิงรุก อีก2 เป็นกลุ่มเป็นผู้กักตัวภายหลังกลับจากต่างประเทศ 


การพบผู้ติดเชื้อน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และการที่ต้องรอลุ้นหยุดเชื้ออยู่กับบ้านมานานเต็มเดือน คนกลุ่มใหญ่จึงฉวยจังหวะช่องว่างที่พอดีกับวันหยุดยาวช่วงต้นเดือน ก่อนวันผ่อนปรนให้เปิดกิจการบางอย่างในวันที่ 3 พ.ค.63





ส่วนหนึ่งออกต่างจังหวัดด้วยรถยนต์ส่วนตัว



คนที่ถูกกักตัวอยู่จังหวัดภูเก็ตจากการปิดเมืองนับหมื่น มุ่งหน้ากลับภูมิลำเนากันจ้าละหวั่น คับคั่งตรงหน้าด่านจนต้องปิด ทำเอาจังหวัดทางผ่านและจุดหมายกังวลอลเวงตามกัน





คุณหมอผลัดกันอธิบายว่าการเดินทาง อาจเป็นการพาเชื้อที่ติดตัวไปแพร่กระจาย



ตัวอย่างจากหลายประเทศที่คลายล็อกเร็ว ทำให้การระบาดวนกลับมาจนต้องปิดเมืองอีกครั้ง



จึงต้องสกัดกั้นเฝ้าระวังการเดินทางทุกระดับ





อีกทั้งสถานการณ์ต่างประเทศ การระบาดยังมีตัวเลขสูง ทั่วโลกถึง 3,401,002 ราย เสียชีวิต 239,602 ราย สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อถึง 1,131,452 เสียชีวิตแล้ว 65,776 ในเอเชีย ที่อินเดียมีมากถึง 37,257 ราย เสียชีวิตถึง 1223 ราย



การเข้าประเทศจึงต้องกักตัว และหนึ่งในผู้ติดเชื้อใหม่ พบจากผู้แสวงบุญที่กลับจากประเทศอินเดีย



การผ่อนปรนให้มีดำเนินการทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม คือ การเปิดตลาด ร้านอาหาร การค้าปลีก ค้าส่ง ร้านตัดผม เสริมสวย ตัดขนสัตว์ ดูแลสัตว์เลี้ยงและเปิดสวนสาธารณะ สนามกีฬากลางแจ้ง ภายใต้เงื่อนไขการดูแลความสะอาด การมีระยะห่างระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า คุณหมออธิบายว่า ไม่ใช่เชื้อโรคหมดไปแล้ว เป็นพียงระดับการแพร่เชื้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งต้องพยายามรักษาระดับนี้ไว้



คนที่มีเชื้อซึ่งไม่แสดงอาการมีอยู่ในสังคม แม้มีการตรวจเชิงรุก แต่ก็ทำในพื้นที่สงสัย ไม่ใช่ตรวจทั่วไป ซึ่งเป็นไปได้ยาก





จึงมีโอกาสที่วิกฤติจะกลับมาหากขาดความระมัดระวัง ง



คุณหมอบอกการออกนอกบ้านทุกครั้งคือความเสี่ยง มากหรือน้อยขึ้นกับระยะทาง ยิ่งถ้าเป็นการออกไปเพื่อชุมนุม กินดื่ม ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น



ความเสี่ยงนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะตัวคนออกไป เพราะหากติดเชื้อ ก็จะพากลับมาติดคนที่บ้าน



หากเป็นผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว และคนมีน้ำหนักมาก เกิน 100 กก.หรือ ค่าดัชนีมวลกายเกิน 35 (โรคอ้วน) ก็ยิ่งไม่ควรออกนอกบ้าน





พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า นับแต่วันที่ 3 พ.ค.63 ไปอีก 14 วัน เป็นช่วงที่ต้องรักษามาตรฐานทางสาธารณสุข ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น การเปิดร้านค้า ร้านอาหารที่มีระยะห่างของการใช้บริการ เน้นการซื้อกลับบ้าน การค้าปลีก ค้าส่ง การตัดผม เสริมสวยที่ใช้เวลาไม่นาน การออกกำลังกายกลางแจ้งที่ต้องรักษาระยะห่าง ส่วนการเปิดคลินิกให้เฉพาะที่เกี่ยวกับบริการทางสุขภาพ การเสริมความงามยังห้ามอยู่



แม้จะให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ได้ ก็อย่ามีการมั่วสุม หากตรวจพบเจ้าหน้าที่จะตักเตือน ถ้าเกิดขึ้นหลายพื้นที่โดยสุราเป็นต้นเหตุ ก็กลับมาห้ามจำหน่ายได้



แต่ข้อมูลปัจจุบัน การออกนอกเคหสถานในเวลาห้ามยังมีอยู่ทุกคืน เป็นพวกกลับบ้าน 25% นอกนั้นไปธุระหรืออื่น ๆ กลุ่มชุมนุม เล่นการพนัน 41% ดื่มสุรา 39% ยาเสพติด 20%



ชุมชนคงต้องช่วยกันสอดส่องแจ้งเบาะแส



ที่สำคัญ การเดินทางข้ามจังหวัดยังเป็นเรื่องต้องห้าม



โดยเฉพาะคนกรุงเทพและภูเก็ต ซึ่งเป็นทำเลที่พบการติดเชื้อมากกว่าที่อื่น



อย่าไปไหนเลย....