"จุรินทร์"ระบุเกษตรกรในโครงการประกันรายได้ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มและข้าวโพด มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท รวมบัตรสีชมพู
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวระหว่างการติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.พังงา ณ หอประชุมศาลากลางจังหวัดพังงา ว่า เรื่องที่ 1 ปริมาณการผลิตยางพารากับการใช้ยางพาราในโลกยังไม่สมดุลกัน คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) จึงต้องไปช่วยคิดดูว่าเงินสงเคราะห์ที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกยาง ด้วยการให้เงินสงเคราะห์ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทนไร่ละ 16,000 บาท จูงใจพอหรือไม่ ที่จะช่วยลดปริมาณการปลูกยางในประเทศ ถ้ายังไม่จูงใจพอ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะต้องไปเพิ่มเงินสงเคราะห์ เรื่องที่ 2 นโยบายประกันรายได้ทั้งในส่วนข้าว ปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง เกษตรกรพอใจมาก ราคาข้าววันนี้ไปเกวียนละ 10,000 กว่าบาทแล้ว สำหรับประกันรายได้ชาวสวนยางพารา ถือเป็นนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับชาวสวนยาง เพราะอย่างน้อยมีหลักประกันในเรื่องรายได้ แม้ราคายางตกต่ำแต่ก็ยังมีเงินส่วนต่างชดเชย ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้ 2 ทาง ทั้งรายได้จากการขายยางในตลาด และรายได้จากเงินส่วนต่างรวมกัน ทำให้พอยังชีพได้ แต่ปัญหาขณะนี้คือความล่าช้าในการรับรองสวนยาง โดยเฉพาะผู้ถือบัตรชมพู ทำให้ยังไม่ได้รับเงินส่วนต่าง จึงฝากประธาน กนย. เรียกประชุมทั่วประเทศอีกรอบ เพราะมีตัวเลขเกษตรกรบัตรชมพูที่ตกหล่นอยู่ในมือของตนจำนวนมาก รวม 18 จังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดพังงาก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่พังงาผู้ว่าฯ ได้รับเรื่องแล้ว โดยวันที่ 8 พฤษภาคมจะต้องทำให้เสร็จเช่นในทุกจังหวัด และก็ ธ.ก.ส.ก็ต้องช่วยอำนวยความสะดวกทันทีโดยต้องโอนย้อนหลังไปให้
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ 3 เรื่องเงินเยียวยาเกษตรกร รัฐบาลมีนโยบายให้เงินเยียวยาเกษตรกร เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมแล้ว 15,000 บาท ขอย้ำว่าเกษตรกรที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ทุกคนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนต่าง ก็จะมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทด้วย เป็นเวลา 3 เดือน ไม่ว่าจะเป็น ชาวนา ชาวสวนปาล์ม ชาวไร่มัน ไร่ข้าวโพดหรือชาวสวนยางก็ตาม และยังรวมไปถึง ผลไม้ ชาวไร่อ้อย พืชเกษตรอื่น แม้แต่ ปศุสัตว์ ประมง ตามที่กระทรวงเกษตรเสนอ ขอให้ไปดูทะเบียนอย่าให้ตกค้างรวมทั้งบัตรสีชมพูด้วย