ย้ายผู้ว่าภูเก็ต เซ่น "เอาไม่อยู่" โควิดระบาด

2020-04-16 17:30:19

ย้ายผู้ว่าภูเก็ต เซ่น "เอาไม่อยู่" โควิดระบาด

Advertisement

เรียบร้อยโรงเรียนมหาดไทย นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าฯภูเก็ต เจอคำสั่งย้ายไปเป็น ผู้ว่าฯเพชรบุรี และให้ ผู้ว่าฯชัยภูมิ นายณรงค์ วุ้นซิ้ว รับตำแหน่งผู้ว่าฯภูเก็ตแทน


แม้จะไม่ได้ระบุเหตุผลที่เด่นชัด แต่ส่วนหนึ่ง ก็พอจะอนุมานได้ว่า เพราะการรับมือการแพร่ระบาดโควิด 19 ในจังหวัดไม่ดีพอ

เพราะภูเก็ต ไม่ใช่เพียงจังหวัดเดียวของไทยที่ตั้งอยู่บนเกาะ และเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญติดอันดับโลกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ภูเก็ตยังเป็นเมืองที่สร้างรายได้เข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวอย่างเป็บกอบเป็นกำ ล่าสุด ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวไปที่ภูเก็ตมากถึง 10.6 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 39.7 ล้านคน ทำรายได้มากถึง 4.2 แสนล้านบาท จากรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท

นี่เป็นความสำคัญอย่างยิ่งของเมืองภูเก็ต ที่กำลังดิ้นรนต่อสู้กับโควิด 19 มหันตภัยร้ายที่ถาโถมเข้าใส่ทุกเมืองทุกประเทศก็ว่าได้

ความจริงภูเก็ต เพิ่งเริ่มจะฟื้นตัวจากผลกระทบรุนแรงในภาคท่องเที่ยวจากกรณีเรือนำเที่ยวฟินิกซ์ล่มในอ่าวภูเก็ตเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2561 มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน สาเหตุจากความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยและไม่เชื่อประกาศเตือนของทางการ ประกอบคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่บางคนที่ฟังไม่เข้าหู ทำให้นักท่องเที่ยวจีน "บอยคอต" ไม่มาเที่ยวประเทศไทยเป็นการตอบโต้อยู่พักใหญ่

ครั้งนี้ แม้จะทราบกันดีถึงฤทธิ์เดชของโควิด 19 ทั้งในจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และยุโรป (ในช่วงแพร่ระบาดรุนแรงก่อนหน้านี้) สำหรับประเทศไทย ก็มีคำเตือนจากคณาจารย์ทางการแพทย์มาตั้งแต่ต้น หากปล่อยปละละเลยหรือไม่ใช้มาตรการเข้มข้นรับมือ จนเป็นที่มาของทั้งประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การให้อำนาจผู้ว่าฯทั่วประเทศ ในการสั่งปิดสถานที่สุ่มเสี่ยงและอื่นๆเพื่อสะกัดยับยั้ง กระทั่งถึงเคอร์ฟิว


จังหวัดภูเก็ต โดยผู้ว่าฯ นายภัคพงศ์ ลงนามในคำสั่งปิดสถานบันเทิงและสถานบริการ มีผลตั้งแต่ 18-31 มีนาคม ไล่เลี่ยกับคำสั่งปิดสถานบันเทิงและสถานที่สุ่มเสี่ยงของ ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ พล ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

24 มีนาคม ผู้ว่าฯโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด สั่งปิดเพิ่มทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ค้าปลีกค้าส่ง ศูนย์พระเครื่อง โต๊ะสนุก สนามกอล์ฟ สถานเสริมสวย ตลอดจนบ่อตกปลา และอื่นๆ มีผล 24-31 มีนาคม

25 มีนาคม ประกาศเคอร์ฟิว ล็อคดาวน์ห้ามออกจากบ้านและที่พักตั้งแต่ 17.00-24.00 น.

30 มีนาคม ประกาศปิดเมือง ห้ามคนเข้าออก ทั้งทางบกและทางน้ำ

2 เมษายน ประกาศสั่งปิดร้านสะดวกซื้อและ 7-11 ระหว่างเวลา 22.00-05.00 น.

10 เมษายน เริ่มต้นปิดสนามบินวันแรก

13 เมษายน ประกาศปิดเส้นทางเขื่อมต่อระหว่างตำบลกับตำบล ถึงวันที่ 26 เมษายน

เรียกได้ว่า พยายามใช้ทุกวิถีทาง เพื่อหวังสะกัดยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ ยอดผู้ติดเชื้อเมื่อนับถึง 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ผู้ว่าฯ เจอคำสั่งย้ายไปเป็นผู้ว่าฯเพชรบุรี อยู่ที่ 190 คน

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตุว่า อาจมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่ง มาจากหนังสือเวียนของจังหวัด ที่ส่งถึงนายอำเภอ นายก อบจ. นายกเทศบาลเมืองทุกแห่ง ให้เร่งรัดจัดซื้อเครื่องพ่นสารเคมีชนิดฝอยละออง และน้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับฉีดพ่นทำความสะอาดสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญๆของจังหวัด พร้อมแนบโบชัวร์สินค้า และราคาของผู้ประกอบการรายหนึ่งแนบไปด้วย ทำให้ถูกตีความหมายว่าเป็นการล็อคสเปคและให้เลือกผู้ประกอบการรายดังกล่าว แม้จะมีคำชี้แจงในเวลาต่อมาว่า เป็นผลจากการประชุมส่วนท้องถิ่นต่างๆ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธุ์ 2563 ซึ่งมีผู้ว่าฯเป็นประธาน แต่เนื่องจากเครื่องพ่นสารเคมีชนิดฝอยละอองเป็นเรื่องใหม่ ผู้บริหารท้องถิ่นไม่มีใครทราบ จึงขอความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปอธิบายชี้แจง พร้อมเอกสารตัวอย่าง และอาจเป็นเหตุให้ เจ้าหน้าที่ผู้จัดส่งหนังสือเผอเรอส่งโบชัวร์ดังกล่าวสอดแทรกไปพร้อมหนังสือเวียนของจังหวัด

จะฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ ผู้ว่าฯรอย้ายไปเพชรบุรีตามคำสั่งแล้ว

เช่นเดียวกับโควิด 19 ไม่ธรรมดาจริงๆครับ