สุดทึ่ง! “รถคุณหมอโรบอท” นวัตกรรมใหม่ลดเสี่ยงติดเชื้อ

2020-04-15 17:40:11

สุดทึ่ง! “รถคุณหมอโรบอท”   นวัตกรรมใหม่ลดเสี่ยงติดเชื้อ

Advertisement

รพ.ร้อยเอ็ด สร้างนวัตกรรม “รถคุณหมอโรบอท” ใช้สื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19

วันที่ 15 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมนวัตกรรมใหม่ของ รพ.ร้อยเอ็ด ในการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือ การคิดนวัตกรรม “รถคุณหมอโรบอท ๑๐๑” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มีจุดประสงค์ เพื่อใช้สำหรับสื่อสาร วิดีโอคอล (Vedio Call) ระหว่างแพทย์ พยาบาล เภสัชกร กับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ผู้ป่วยได้สามารถพูดคุยสื่อสารกับบุคคลากรทางการแพทย์ได้โดยตรง รวมทั้งสามารถให้การรักษา ส่งยา และอุปกรณ์จำเป็นแก่ผู้ป่วย โดยลดการสัมผัสใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ทั้งยังทำให้สามารถลดการใช้ชุดป้องกัน(PPE) ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นชุดที่มีมูลค่าสูงและขาดแคลนในปัจจุบัน เพราะในแต่ละวันการเข้าตรวจดูแลผู้ป่วยแต่ละรอบ หรือการจ่ายยาแต่ละครั้ง บุคลากรทางการแพทย์ต้องเปลี่ยนชุดใหม่ ทำให้ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง

รถคุณหมอโรบอท ๑๐๑ เป็นนวัตกรรมที่ผลิตจากอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ทั่วไปและมูลค่าไม่สูง ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวรถบังคับ มูลค่า 2,800 บาท และได้มาดัดแปรงตัวแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถใช้งานได้นานขึ้น ตัวแบตเตอรี่มูลค่า 1,500 บาท จากนั้นได้เพิ่มพื้นที่สำหรับวางถาดสิ่งของรวมทั้งโครงสร้างได้ผลิตจากท่อน้ำ PCV รวมมูลค่า 800บาท และระบบสื่อสารกับผู้ป่วยโดยผ่านอุปกรณ์ tablet มูลค่า 10,000 กว่าบาท รวมแล้วมูลค่าทั้งหมด ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับการใช้งานได้จริง และยังสามารถลดต้นทุนการใช้ชุด PPE รวมถึงการช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง โดยที่ยังสามารถให้การรักษาตามมาตรฐานได้เหมือนเดิม




นพ.ธงชัย เสรีรัตน์ ประธานองค์กรแพทย์ รพ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า รถคุณหมอโรบอท 101 ได้มีแนวคิดและร่วมกับ พญ.วิราภรณ์ ณรงค์ราช แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู และนายชาราวุทย์ ประทุมขันธุ์ นักกายอุปกรณ์ โดยทางทีมงาน ไม่ได้มีการจดลิขสิทธิ์ใดๆ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ รพ.อื่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วย 1 คนมีโอกาสทำให้คนทั่วไปติด 2.5 คน ใน 5 วัน เจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยต้องพบปะพูดคุยถามอาการ เพื่อให้การรักษาและสร้างความสบายใจ ความมั่นใจ ให้กับผู้ป่วย