ฝังไม่ทัน ศพโควิด-19 ในเอกวาดอร์ ทะลักสุสาน

2020-04-13 10:35:09

ฝังไม่ทัน ศพโควิด-19 ในเอกวาดอร์ ทะลักสุสาน

Advertisement


การระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 ในเมืองกัวยากิล เมืองเอกของจังหวัดกัวยัส ประเทศเอกวาดอร์ ทำให้ระบบสาธารณสุขของเมืองพังครืน ส่งผลกระทบต่อแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลของเมือง จากการเปิดเผยของสำนักงานสาธารณสุขเอกวาดอร์ ระบุว่า มีแพทย์, พยาบาลและบุคลกรทางการแพทย์ ถึง 1,600 คน ถูกกักตัว เพราะพวกเขาล้มป่วยจากการติดเชื้อไวรัสมรณะ นายเออร์เนสโต คาร์รัสโค รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขของเอกวาดอร์ กล่าวว่า มีบุคลากรทางการแพทย์หลายสิบคนเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

พยาบาลรายงานว่า พวกเขาไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากไวรัส และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน ผู้นำเอกวาดอร์ หามาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อมากกว่านี้ ซึ่งยิ่งจะส่งผลเลวร้ายมากขึ้น



ขณะที่รัฐบาลเอกวาดอร์ พยายามอย่างหนักที่จะเก็บศพผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ท่ากลางมาตรการคุมเข้มเพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัส แต่ชาวเอกวาดอร์กำลังจัดการกับศพด้วยมือของพวกเขาเอง ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยง พวกเขาต้องขุดหลุมฝังศพเองกับมือในทุ่งนา หลังจากโทรศัพท์เรียกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้มาเคลื่อนย้ายศพออกไป แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ

รถยนต์บรรทุกศพรอคิวยาวเหยียดอยู่ด้านนอกสุสานในเมืองกัวยากิล จังหวัดกัวยัส เพื่อรอขนโลงศพไปฝัง มีบางศพติดค้างอยู่บนหลังคารถยนต์ ในสุสาน



ประธานาธิบดีโมเรโน กล่าวว่า รัฐบาลของเขากำลังสร้าง “ค่ายพิเศษ” เพื่อจัดการกับศพผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในเมืองกัวยากิล ศูนย์กลางการระบาดของไวรัส ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คนแล้ว ซึ่งยังมีศพอีกจำนวนมาก ถูกทิ้งอยู่บ้านเป็นเวลาหลายวันโดยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดมาเก็บและนำไปฝังอย่างถูกวิธี อีกทั้งรัฐบาลก็แจกจ่ายโลงศพที่ทำจากกล่องกระดาษให้ประชาชนแล้ว เนื่องจากโลงศพที่ทำจากไม้ มีราคาแพง

สำหรับผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ จนถึงขณะนี้ อยู่ที่ 333 คน และติดเชื้อรวม 7,466 คน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับมือได้ ชาวบ้านในเมืองกัวยากิล เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเอกกวาดอร์ พากันบ่นแสดงความไม่พอใจว่า พวกเขาไม่มีทางที่จะจัดการกับซากศพของญาติพี่น้องได้ เนื่องจากติดมาตรการกักบริเวณที่เข้มข้นและเคอร์ฟิวของรัฐบาล ที่ประกาศใช้เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่กล่าวว่า พวกเขาได้เคลื่อนย้ายศพนับ 100 ศพออกจากบ้านเรือนประชาชนในเมืองท่าแห่งนี้

ประธานาธิบดีโมเรโน กล่าวว่า รัฐบาลคาดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในพื้นที่โดยรอบเมืองกัวยากิล จังหวัดกัวยัส ซึ่งมีประชากร 3.8 ล้านคน อาจสูงระหว่าง 2,500-3,500 ศพ “ขณะนี้ รัฐบาลกำลังสร้างค่ายพิเศษขึ้นเพื่อรองรับผู้เสียชีวิต” เขากล่าว



เจ้าหน้าที่เอกวาดอร์ กล่าวว่า พวกเขาจะพยายามปรับปรุงในเรื่องการเก็บศพให้ดีขึ้น หลังจากเกิดความล่าช้าเนื่องจากการระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัส ทำให้หลายครอบครัวต้องเก็บศพญาติไว้ในบ้านเป็นเวลาหลายวันในบางราย

ในขณะที่ ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จนศพท่วมทับ ล้นโรงพยาบาลและสถานที่เก็บศพ, ฌาปนสถานและสุสานในเมืองก็แน่นไปด้วยศพ เพื่อจัดการปัญหาศพล้นทะลักนี้ ทางรัฐบาลจึงได้เริ่มก่อสร้างสถานที่เก็บศพชั่วคราวขึ้นนอกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองกัวยากิลตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีโมเรโน ออกมาเรียกร้องให้ทำการสอบสวนกรณีที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นล้มเหลวในการเก็บศพผู้เสียชีวิตจากไวรัสในเมืองกัวยากิล “เราจะไม่ยอมให้ศพถูกฝังโดยที่ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร พวกเขาสมควรจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี” โมเรโน โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ขณะที่ ญาติพี่น้องในครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็บ่นผ่านโซเชียลมีเดียว่า โรงพยาบาลของรัฐ ไม่ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วในการเก็บศพบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา ในบางรายศพไม่ได้เขียนชื่อแซ่ให้ถูกต้องด้วย เขียนชื่อผิดคนก็มี



จากปากคำของชาวบ้านบอกว่า การระบาดอย่างรวดเร็วในเมืองกัวยากิล ทำให้มีศพจำนวนมากยังไม่ได้ถูกเก็บในบ้านเรือนประชาชน และแม้แต่ตามถนนหนทาง บีบให้เจ้าหน้าที่ต้องเก็บศพหลายศพยัดไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น เพื่อรอเปิดสุสานฝังต่อไป

ส่วนอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลต้องใช้แรงงานนักโทษในเรือนจำ ในการที่ผลิตโลงศพไม้สำหรับเหยื่อผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งพวกเขาต้องทำงานกันอย่างหนัก โดยโลงศพเหล่านี้ ทำจากไม้ที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมเอกวาดอร์ยึดมาจากกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้หลายกลุ่มทั่วประเทศ ไม้มากกว่า 730 ลูกบาศก์เมตร ถูกบริจาคให้เรือนจำเพื่อให้นักโทษช่วยกันผลิตโลงศพ ซึ่งขนาดนี้ก็ยังไม่พอกับจำนวนผู้เสียชีวิต

ฮวน เดโฮวิตต์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โลงศพนี้ จะถูกใช้สำหรับเหยื่อโควิด-19 จากครอบครัวที่มีฐานะยากจนและส่วนใหญ่สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกัวยัส

เอกวาดอร์ เป็นประเทศที่ 2 ในลาตินอเมริกา ที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุด รองจากบราซิล ซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้ว 22,318 คน และเสียชีวิต 1,230 คน