14 จนท.กู้ภัยทับสะแกโล่งไม่ติดโควิด -19

2020-04-08 16:25:44

14 จนท.กู้ภัยทับสะแกโล่งไม่ติดโควิด -19

Advertisement

ผลแล็บชี้ 14 จนท.กู้ภัยทับสะแกไม่ติดเชื้อโควิด -19 แต่ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายเสียวเง็ก จิรวัฒนาพร ประธานมูลนิธิสว่างรุ่งเรืองธรรมสถาน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากกรณีชาว จ.นราธิวาส อายุ 57 ปี ที่เดินทางกลับจากประเทศปากีสถาน เสียชีวิตบนรถไฟสายใต้ก่อนถึงสถานีรถไฟทับสะแก เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ต่อมาตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิฯได้สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือร่วมชันสูตรศพกับเจ้าหน้าที่ รพ.ทับสะแก ทำให้ต่อมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยจำนวน 14 รายถูกสั่งกักตัวที่มูลนิธิเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. ล่าสุดผลตรวจการสารคัดหลั่ง ไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่จิตอาสารายใดติดเชื้อโควิด-19 แต่เพื่อความปลอดภัยมูลนิธิฯได้ปิดประตูทางเข้าออกทั้งหมด พร้อมงดเยี่ยมอาสาทั้ง 14 ราย จนกว่าจะครบกำหนดกักตัว ขณะที่มีประชาชนจำนวนมากมอบอาหารและสิ่งของช่วยเหลือเพื่อให้กำลังใจ โดยมูลนิธิฯจะกลับมาทำหน้าที่กู้ภัย กู้ชีพอีกครั้งในวันที่ 15 เม.ย.นี้ แม้ว่ายังไม่ได้รับอุปกรณ์สนับสนุนทั้งชุดป้องกัน PPE หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ จากหน่วยงานภาครัฐ

นายภิรมย์ นิลทยา รอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้เชิญตัวแทนมูลนิธิกู้ภัยทั้งจังหวัดประชุมที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติ โดยมีตัวแทน 9 มูลนิธิกู้ภัยใน 8 อำเภอที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมหารือ จากนั้นจะนำผลสรุปไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้ง 473 รายทำหน้าที่อย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ขณะเดียวกันการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐพบว่าอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติโดยเฉพาะที่ อ.หัวหิน เจ้าหน้าที่กู้ภัยแจ้งในที่ประชุมว่าศูนย์สั่งการ 1669 ไม่ออกไปปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ จึงไม่เป็นไปตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ 1669 ออกไปปฏิบัติงานก่อนเจ้าหน้าที่กู้ภัย

“ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประสานมูลนิธิกู้ภัยทุกแห่ง พร้อมสำรวจความต้องการอุปกรณ์ป้องกันในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้งหมด เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ ขณะเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบนโยบายให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติ หากมีอุบัติเหตุเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉิน 1669 ต้องไปถึงที่เกิดเหตุก่อน หรือไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัย ส่วนกรณีการเก็บรักษาร่างผู้เสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุ จะต้องเก็บรักษาศพที่โรงพยาบาลเท่านั้น” นายภิรมย์ กล่าว

นายชวลิต รัตนสุทธิกุล เลขาธิการมูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลธรรมสถานปราณบุรี ในฐานะประธานหน่วยกู้ภัยเขต 4 เครือสว่างภาคใต้ กล่าวว่าปัญหาการกู้ชีพกู้ภัยของเจ้าหน้าที่จิตอาสาในช่วงวิกฤตจากการระบาดของโควิด -19 ยืนยันว่าไม่ได้รับการสนับสุนนวัสดุอุปกรณ์จากหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ชุดอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลหรือชุด PPE ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) มีเพียงหน้ากากอนามัยลอตแรก 1.3 แสนชิ้นแจกกู้ภัยทั่วประเทศ 76 จังหวัด ทั้งนี้การทำงานของมูลนิธิได้รับความกดดันเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมามีการประชุมตัวแทนมูลนิธิทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 จะต้องหยุดการทำหน้าที่ แต่มีบางฝ่ายโต้แย้งว่า หากมูลนิธิหยุดทำหน้าที่ก็เหมือนการเอาประชาชนเป็นตัวประกันยอมรับว่าเรื่องนี้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะไม่เคยได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะศูนย์สั่งการ 1669 ปล่อยให้มูลนิธิสว่างทับสะแกออกไปกู้ชีพผู้เสียชีวิตบนโบกี้รถไฟสายใต้ได้อย่างไร เนื่องจากผลของการช่วยเหลือมูลนิธิทับสะแกต้องปิดศูนย์เหมือนกับมูลนิธิในเครือต้องปิดตัวอีก 2 แห่ง