อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยโควิด-19 ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น ทั้งกล่องพลาสติกใส่อาหาร ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดดูด เหตุประชาชนส่วนใหญ่ทำงานอยู่บ้าน ทำให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ ฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มหลายเท่า
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนม.ค. – มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมทั้ง จำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น ส่งผลต่อการคัดแยกขยะและปริมาณขยะ
นายประลอง กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร ถึงแนวโน้มปริมาณขยะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวรี่ รวมทั้งช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติกและหลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่ จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากหลายเท่าขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดเนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส
นายประลอง กล่าวว่า. แนวทางการลดปริมาณขยะ/ขยะพลาสติกในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดำเนินการได้ดังนี้ 1) ในช่วงเก็บตัวอยู่บ้าน หากท่านไหนไม่มีครัว สั่งแบบเดลิเวรี่ อย่าลืมแจ้งทางร้านหรือคนขับของแอพต่างๆที่ให้บริการ ว่าไม่รับช้อนส้อมพลาสติกทุกครั้งด้วย เพื่อช่วยกันลดขยะพลาสติก และใช้ช้อนตัวเอง ที่ล้างทำความสะอาดด้วยตัวเอง มั่นใจต่อสุขภาพอนามัยมากขึ้น ในส่วนของร้านอาหารควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) ควรบริโภคอาหารแบบแพ็คห่อพอประมาณ ลดการสร้างขยะพลาสติก ช่วงกักตัวหากสามารถทำอาหารทานเองได้ควรทำให้บ่อยขึ้นแทนการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง 3) การซื้อสินค้าอาหาร ควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนซื้อ และซื้อไว้ในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับการบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Food waste หรือขยะอาหาร อนึ่ง จากรายงานสถานการณ์มลพิษ โดย คพ. พบว่า ในปี 2562 มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยเกิดขึ้น 28.71 ล้านตัน หรือประมาณ 78,665 ตันต่อวัน โดยปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว และประชากรแฝงจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทางานในประเทศไทย