ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ วอนรัฐสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ หวั่นขาดแคลนระยะยาว ชี้เคอร์ฟิวมีสัญญาณที่ดี จำนวนการติดเชื้อไม่ขยายตัว
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยกับทีมข่าวนิว18 ว่า รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ขณะนี้สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งผู้ป่วยระดับอาการรุนแรง จะต้องใช้ห้องความดันลบ ซึ่งทาง รพ.มีพร้อมรองรับทั้งหมด 13 เตียง ผู้ป่วยระดับปานกลาง หรือ เล็กน้อย มีเตียงรองรับผู้ป่วย ประมาณ 30- 40 เตียง และกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือ สังเกตอาการมาระยะหนึ่งแล้ว จะส่งต่อไปยัง รพ.สนามที่จัดเตรียมไว้รองรับทั้งหมด 308 เตียง ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในความดูแลของ รพ. 7-10 ราย และ รพ.สนาม 20 ราย
รศ.นพ.พฤหัส ยอมรับว่า เชื้อโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ บุคลากรทางการแพทย์ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทักษะในด้านการป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทาง รพ.ได้เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ป้องกันที่สำรองไว้ใช้ได้ประมาณ 1 เดือน แต่อุปกรณ์บางอย่างยังคงขาดแคลนและหาซื้อยาก เช่น หน้ากาก N95 และ ชุด PPE จึงอยากฝากให้รัฐบาลดูแลในด้านอุปกรณ์สำรองไว้ให้กับ รพ.ต่างๆ ที่อาจจะขาดแคลนได้ในระยะยาว
ขณะที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ได้เปิดจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่จุด "EID Clinic" ซึ่งเป็นคลินิกเฉพาะทางโรคอุบัติใหม่ โดยแต่ละวันมีประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง เข้าตรวจหาเชื้อวันละ 40-50 ราย แต่บางรายอาจไม่เข้าเกณฑ์การติดเชื้อ ดังนั้นมีเพียง 10-20 รายต่อวันเท่านั้นที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงและได้รับการตรวจ ซึ่งหากประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากสามารถใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ต้องการตรวจหาเชื้อ จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 5,000 บาท ต่อการตรวจ 1 ครั้ง
รศ.นพ.พฤหัส ยังระบุอีกว่า มาตรการเคอร์ฟิวที่ภาครัฐออกมาบังคับใช้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากจำนวนการติดเชื้อยังคงที่ ไม่ขยายตัว แต่ก็ต้องดูว่าหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการมีวินัยของประชาชน การส;มหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างกัน ก็จะสามารถช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้