เฝ้าระวังแรงงานชายฆ่าตัวตายพุ่ง

2017-09-10 15:20:10

เฝ้าระวังแรงงานชายฆ่าตัวตายพุ่ง

Advertisement

กรมสุขภาพจิต เผยอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยลดลงอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน เน้นเฝ้าระวังภาคกลางมากขึ้น หลังพบชายวัยแรงงานมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และผู้บริหารกรมสุขภาพจิต เปิดงานเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2560 (World Suicide Prevention Day) ภายใต้แนวคิด “Take a minute, change a life : เพียงนาที ชีวิตเปลี่ยน” ซึ่งทุกคนสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ ด้วยการใช้หลัก 3 ส. ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยอัตราการฆ่าตัวตายล่าสุดของคนไทย ปี 2559 อยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ลดลงจากปี 2558 ที่มีอัตรา 6.47 ต่อประชากรแสนคน และแม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 340 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง จะมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปี ระหว่างปี2557-2559 พบประเด็นน่าสนใจที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกัน ได้แก่ ภาคเหนือ ยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น




น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวด้วยว่า สาธารณสุขให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยกำหนดให้การลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ เป็นตัวชี้วัดสำคัญหนึ่งในการดำเนินงานในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตั้งเป้าหมาย ลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่เกิน 6.0 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2564 ทั้งนี้ ได้เน้นเฝ้าระวังในเขตภาคกลางมากขึ้น เนื่องจาก พบว่า ชายวัยแรงงานมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า