“หมอประกิต” เตือนเลิกสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า ติดโควิด-19 ทรุดหนักตายได้

2020-04-04 11:03:36

“หมอประกิต” เตือนเลิกสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า ติดโควิด-19 ทรุดหนักตายได้

Advertisement

“หมอประกิต” ห่วงโควิด-19 ระบาดหนัก กลุ่มเสี่ยงสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า อันตรายติดเชื้ออาจทรุดหนักตายได้ หวั่นการระบาดรุนแรง ห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจ มีไม่พอกับคนป่วย เชียร์เลิกดื่ม เลิกสูบทันที ช่วยระบบสาธารณสุขได้ 

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19 )ว่า ขณะนี้ยังมีคนบางกลุ่มพยายามส่งต่อข้อมูลว่า การติดโควิด-19 ไม่มีอะไรน่ากลัว หายแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ การระบาดนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ส่วนใหญ่ อาการจะไม่หนัก เช่น ข้อมูลจากจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบการระบาดนั้น พบว่าผู้ป่วยประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์  ต้องอยู่โรงพยาบาล และประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์  ต้องรักษาตัวอยู่ไอซียูแต่ปัญหาใหญ่ของโควิด-19 ไม่ได้อยู่ที่กลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก หรือแสดงอาการไม่มาก แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ หากเกิดการระบาดมาก จะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และเสี่ยงต่อการมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย 

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เชื้อไวรัสชนิดนี้รุนแรงมากขึ้นคือ การสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีรายงานจากวารสารการแพทย์จีน ระบุว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการทรุดหนักรวมถึงเสียชีวิต เป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า การสูบบุหรี่จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัส โควิด-19 ดังนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงโดยการไม่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ ซึ่งที่ไทยมีการพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากการเที่ยวผับ บาร์ จากพฤติกรรมการสูบบุหรี่มวนเดียวกันและดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทยอย่างมาก มีความพยายามรณรงค์ให้ผู้ที่สูบบุหรี่พยายามเลิกบุหรี่ให้ได้

“ระบบการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ยังไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากๆ ในเวลาเดียวกันได้ เนื่องจากเตียงในห้องไอซียูมีไม่พอ เครื่องช่วยหายใจไม่พอ เหล่านี้อาจส่งผลต่อคนไข้อาการหนักอื่นๆ ที่ต้องเข้าอยู่ในห้องไอซียู เช่น หัวใจวายเฉียบพลันที่ต้องการการรักษาในห้องไอซียู ก็จะไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการเหล่านี้ และจะเสียชีวิตในชีวิตสุด หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การรักษาผู้ป่วยหนักก็จะมีไม่เพียงพอ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว 

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ประเทศอิตาลี หมอต้อง “ถูกบังคับ” ให้ทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะต้องทำ คือต้องเลือกว่าจะใช้เครื่องช่วยหายใจกับคนไข้คนไหนที่จะมีโอกาสรอดมากกว่า คนที่เหลือก็ต้องปล่อยให้หอบ รักษาโดยไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ดังนั้น สถานการณ์ขณะนี้ จึงเป็นปัญหาที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกัน เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจและเห็นแก่ส่วนรวม คนที่ยังไม่เป็นก็ระวังตัวอย่าให้ติดเชื้อ ต้องป้องกันตัวเองตามที่กระทรวงสาธารณะสุขแนะนำ คนที่ป่วยก็ต้องไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก ทุกคนต้องช่วยกันไม่ให้มีคนป่วยเพิ่มขึ้นให้ได้