"หมอเป็ด" ไขข้อข้องใจ "กาฬโรคแอฟริกาในม้า" (คลิป)

2020-04-03 17:00:19

"หมอเป็ด" ไขข้อข้องใจ "กาฬโรคแอฟริกาในม้า" (คลิป)

Advertisement

ผอ.รพ.สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ไขข้อข้องใจ "กาฬโรคแอฟริกาในม้า" เป็นโรคนำเข้า ไม่ติดต่อสู่คน ชี้การป้องกันระบาด ต้องแยก 3  ส่วนออกจากกัน คือ ม้าลายตัวปล่อยเชื้อ  ริ้นดูดเลือด ม้าบริสุทธิ์ที่ยังไม่ติดเชื้อ 

ผศ.สพ.ญ.อารีย์ ไหลกุล ผอ.รพ.สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน  หรือ "หมอเป็ด" เล่าให้ทีมข่าวนิว 18 ฟังว่า เรียนจบสัตวแพทย์เมื่อ 2535 ทำการรักษาและศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของม้ามา 27 ปี เพิ่งจะเคยพบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสหรือกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมป้องกันโรคในม้า กรมปศุสัตว์ ประกาศเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563

หมอเป็ด บอกว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวไม่ติดจากม้าสู่คน แต่เชื้อไวรัสตัวนี้เกิดจากการนำม้าจากประเทศแถบแอฟริกาเข้ามาในประเทศไทยและม้าเกิดป่วยหรือติดเชื้อไวรัสมาอยู่แล้ว เมื่อนำไปเลี้ยงอยู่รวมกับม้าตัวอื่นๆ จำนวนมาก จะมีแมลงที่เรียกว่าริ้นดูดเลือดเป็นพาหะนำโรค ไปกัดม้าตัวที่ป่วยและแพร่ระบาดไปยังตัวอื่นได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกรณีที่ม้าตายใน จ.นครราชสีมา ซึ่ง จ.นครราชสีมามีม้าอยู่เยอะ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของการเพาะพันธุ์ม้า โดยม้าที่ป่วยหรือติดเชื้อไวรัสกาฟโรคแอฟริกาจะสังเกตได้จากอาการซึม ไม่กินอาหาร ตาแดง มีไข้สูง หอบ หายใจลำบาก กระวนกระวาย ซึ่งหลังจากแสดงอาการอาจจะตายอย่างเฉียบพลันรุนแรงได้

"เมื่อม้าป่วย ริ้นไปดูดเลือดจะพาเชื้อไปสู่ม้าอีกตัวหนึ่ง คือไม่ได้ติดจากม้าสู่ม้า แต่จะมีริ้นเป็นพาหะ โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน ตอนนี้เหมือนโรคนำเข้า คือ พอเรานำม้าป่วยเข้ามา ม้าเราก็จะป่วย โรคนี้ระบาดในทวีปแอฟริกา หลายประเทศยังไม่มีประเทศนี้ระบาด น่าเสียใจที่่มีการระบาดในประเทศไทย เชื้อไวรัสจะมาเองไม่ได้ ขึ้นเครื่องบินเองไม่ได้ จะต้องมาก้ับริ้นดูดเลือด ริ้นก็ต้องมากับสัตว์ที่ขึ้นเครื่องบินมาได้ ริ้นต้องไปกัดต้นตอและมากัดม้าเมืืองไทย" หมอเป็ด กล่าว

หมอเป็ด กล่าวว่า ถ้าทุกคนช่วยกันทำงาน สามัคคีกันจะปราบโรคนี้ให้สงบได้ วิธีการปราบปรามควบคุม ยุติการระบาดกรมปศุสัตว์ได้ประกาศมาตรการมาแล้ว คือ ควบคุมแมลง ทำลายตัวอ่อน ใช้ยาฆ่าแมลง หัวใจสำคัญคือสัตว์ป่วยที่จะปล่อยเชื้อต้องควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด และต้องไม่มีการเดินทางของแมลง ไม่มีการเดินทางของม้าป่วย ไม่มีการเดินทางของม้าต้นตอ เมื่อม้าตาย เชื้อไวรัสก็จะตายไปกับเขาด้วย สำหรับม้าที่จะแพร่เชื้อได้ เช่น ม้าลาย ก็ต้องหยุดไม่ให้เขาเข้ามาเจอกับแมลงดูดเลือด  ไม่ให้แมลงดูดเลือดเจอกับม้าที่ย้ังไม่เป็นโรค ต้องควบคุมกักกันทุกจุด สรุปคือ ป้องกันตัวแรก ม้าลายตัวปล่อยเชื้อ ตัวที่ 2 แมลงดูดเลือด และตัวที่ 3 คือ ม้าบริสุทธิ์ที่ยังไม่ติดเชื้อ 

สำหรับวัคซีนในการป้องกันโรค ในประเทศที่มีโรคนี้จะใช้วัคซีนป้องกันโรค ถ้าไม่มีโรคก็ไม่ควรนำวัคซีนมาใช้ เพราะเหมือนไปเชิญเอาเชื้อเข้ามา เพราะวัคซีนเป็นไวรัสทำให้อ่อนกำลังลง แต่ ณ วันนี้ต้องใช้วัคซีนควบคุมตัวที่ยังไม่ติดเช่ื้อ ในระยะสั้นต้องใช้วัคซีนช่วย 

ตอนนี้มีการกักตัวม้า เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้มีการระบาดในวงกว้าง  เลี้ยงม้าในคอกที่ปลอดแมลงดูดเลือด กางมุ้ง พ่นยาไล่แมลง เพื่อช่วยม้าที่ยังไม่ได้รับเชื้อให้ปลอดภัย และสุดท้ายแยกกลุ่มม้าออกจากกัน โดยการนำไปเลี้ยงคนละที่ก็จะปลอดภัย