นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เตือนว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เป็นความท้าทายครั้งใหญ่สุดสำหรับโลก ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มันอาจนำไปสู่ภาวะถดถอย ที่ไม่มีครั้งใดในอดีตเทียบเท่า โดยคำเตือนของกูเตอร์เรส มีขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ที่น่ากลัวเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศนำมาต่อสู้เพื่อหยุดยั้งไวรัสร้าย
จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะทั่วโลก ขณะนี้ อยู่ที่มากกว่า 860,000 ราย และเสียชีวิตแล้วมากกว่า 42,000 ราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสหรัฐประเทศเดียวขณะนี้ อยู่ที่มากกว่า 4,000 ราย สูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว
มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ในสหรัฐ แถลงว่า มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐเพิ่มอีก 865 รายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และติดเชื้อรวมทั่วประเทศกว่า 189,000 ราย โดยประมาณ 3 ใน 4 ของชาวอเมริกันขณะนี้ อยู่ภายใต้มาตรการ “ล็อคดาวน์” หรือ “ปิดเมือง” ขณะที่ รัฐต่าง ๆ ของสหรัฐใช้มาตรการเข้มข้นในการทำสงครามกับไวรัส ศัตรูที่มองไม่เห็น
ขณะเดียวกัน สเปน มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดรองจากอิตาลีเท่านั้น ก็เสียชีวิตเพิ่มอีก 849 รายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถิติรายวันที่สูงที่สุดในวันเดียว ส่วนในสหราชอาณาจักร มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 1,789 ราย เพิ่มขึ้นอีก 381 ราย ซึ่งในกลุ่มผู้เสียชีวิต มีเด็กชายวัย 13 ขวบรวมอยู่ด้วย
นายกูเตอร์เรส กล่าวที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในนิวยอร์ก ระหว่างการรายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ถึงผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัส ระบุว่า การะบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังโจมตีสังคมทะลุทะลวงถึงแก่นใน โดยอ้างถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน และปิดห้างร้านธุรกิจ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส
รายงานของยูเอ็น ประเมินว่า จะมีผู้ตกลงถึง 25 ล้านคนทั่วโลก จากผลพวงของไวรัส อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกจะลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์
“โควิด-19 ถือเป็นบททดสอบที่หนักหนาสาหัสที่สุดที่พวกเราต้องเผชิญร่วมกัน ตั้งแต่ก่อตั้งสหประชาชาติมา” กูเตอร์เรสกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทันทีเพื่อยุติการระบาดของไวรัสร้าย
กูเตอร์เรส ยังเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรม ช่วยประเทศด้อยพัฒนา มิเช่นนั้นต้อง “เผชิญหน้ากับฝันร้ายจากการระบาดของไวรัสร้ายไม่ต่างจากไฟไหม้ป่า”
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารโลก เตือนว่า ดูเหมือนว่า “เศรษฐกิจต้องพบเจอกับความเจ็บปวดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกประเทศ” และภาคครัวเรือนที่พึ่งพาอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส