ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ ศบค.นำหน้ากากอนามัยซึ่งมีลิขสิทธิ์ ผลิตตามคำสั่งซื้อของต่างประเทศที่ค้างสต๊อกรอการส่งออกอยู่ในโรงงาน ออกมาใช้ภายในประเทศเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการประชุมร่วมกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพาสามิต ภก.พิพัฒน์ นิยมการ รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรม รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี และนายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร กรมศุลกากร หลังหารือแนวทางแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนขาดแคลนหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด แนะเร่งเจรจานำหน้ากากค้างสต็อกส่งออกมาจำหน่ายทดแทน เฝ้าระวังการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย พร้อมหนุนให้กรมสรรพสามิตลดภาษีผู้ประกอบการศูนย์เปอร์เซนต์
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า จากการที่มีข้อร้องเรียนกรณีความเดือดร้อนของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ อันเนื่องมาจากการจำหน่าย จ่ายแจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้กับสถานพยาบาล ร้านค้า และประชาชนเพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ไม่ทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลงพื้นที่สุ่มตรวจโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อดูกระบวนการขั้นตอนการผลิตหน้ากากอนามัย คุณภาพ ปริมาณการผลิตต่อครั้ง และระบบการจัดจำหน่าย ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันความต้องการหน้ากากอนามัยอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านชิ้นต่อวัน ในขณะที่ประเทศไทย มีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย จำนวน 11 โรงงาน กำลังการผลิตรวมแล้ว ประมาณ 1.35 ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนและราคาสูงกว่าปกติ ในวันนี้ จึงได้ประชุมหารือถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อหามาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วนในกรณีดังกล่าว โดยสรุปที่ประชุม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการส่งออก ที่จะจัดตั้งขึ้นโดย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ "ศบค." พิจารณาหามาตรการในการนำหน้ากากอนามัยซึ่งมีลิขสิทธิ์และผลิตตามคำสั่งซื้อของต่างประเทศที่ค้างสต๊อกรอการส่งออกอยู่ในโรงงานการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศ นำออกมาใช้ภายในประเทศเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน
2. จะเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาขาดแคลนในการผลิตหน้ากากต่อไปในอนาคต
3. กรณีแอลกอฮอล์ที่นำมาผลิตเจลล้างมือ ปัจจุบัน กรมสรรพสามิตได้มีมาตรการ โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ 0 เปอร์เซนต์ต่อลิตร ให้กับผู้ประกอบการที่นำแอลกอฮอล์ไปใช้ผลิตเจลล้างมือ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการมาขออนุญาตเกี่ยวกับการผลิตแอลกอฮอล์แล้วกว่า 28 ล้านลิตร ทำให้แอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตเจลล้างมือ เข้าสู่กลไกการผลิตเจลล้างมือมากขึ้น ซึ่งทำให้จะมีแนวโน้มราคาเจลล้างมือลดลง ส่วนการควบคุมราคาเจลล้างมือนั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้เจลล้างมือเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ซึ่งหากมีการขายเกินราคาก็จะมีความผิดตามกฎหมาย