สธ.แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก 111 ราย ยอดสะสมพุ่ง 1,045 ราย
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 18 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่ม 111 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 29 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 6 ราย ,สถานบันเทิง 3 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 19 ราย และกลุ่มผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 19 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติ 6 ราย, กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 9 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย และ และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 1 ราย
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 63 ราย
สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 4 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สรุป มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 88 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 953 ราย เสียชีวิต 4 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,045 ราย
จากจำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นทะลุหลักพันเร็วกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่ทั้งหมดยังทราบประวัติที่มาที่ไป โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายเก่าที่เคยรายงานแล้ว ทั้งกลุ่มสนามมวย กลุ่มสถานบันเทิง กลุ่มกลับจากงานบุญ พบประมาณ 20-30 รายต่อวัน แสดงว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องการเว้นระยะห่าง(Social Distancing)ในบ้าน ทำให้นำโรคมาแพร่ให้ แม่ พ่อ สามี ภรรยา ลูก หลาน
ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง มีอาชีพทำงานสัมผัสกับชาวต่างชาติ ทำงานในสถานบันเทิง พบทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด วันละประมาณ 10-20 ราย แสดงถึงความตระหนักเรื่อง การป้องกันตัวเองของประชาชนยังไม่ดีพอ ยังไม่งดการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ยังไปในพื้นที่คนแออัด ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่หมั่นล้างมือ
อย่างไรก็ตามยังพบผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมาจากความรวดเร็วของระบบคัดกรองผู้ป่วย ผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง เมื่อได้รับรายงานผู้ป่วยเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในพื้นที่จะเข้าไปค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าระบบทันที ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ทำให้พบตัวเลขผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และภาคใต้ได้ค่อนข้างสูง ส่วนภาคอื่นๆ ยังมีผู้ป่วยประปรายเนื่องจากประชาชนยังไม่งดการเดินทาง
พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้สถานพยาบาลทุกแห่งเคร่งครัดมาตรการป้องกัน ควบคุมการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ที่สำคัญหากผู้ป่วยปกปิดประวัติการเจ็บป่วย ประวัติความเสี่ยง จะส่งผลให้ผู้ให้บริการ แพทย์ พยาบาล เสี่ยงติดเชื้อโรคไปด้วย หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะกระทบต่อระบบการรักษาพยาบาล ทำให้มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ กลายเป็นผู้ป่วย เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ต้องกักกันตัวเองทำให้ไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วย