ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

2020-03-21 06:00:31

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

Advertisement

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในสตรีไทย และทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโรคนี้เราจึงควรมาทำความรู้จักโรคนี้กัน

ปากมดลูกคือส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่ต่อจากมดลูกในช่องท้องโผล่ยื่นออกในช่องคลอด ปากมดลูกเป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือน ซึ่งมาจากมดลูกและไหลออกมาภายนอกผ่านช่องคลอด ขณะมีเพศสัมพันธ์น้ำอสุจิจะไปอยู่ในช่องคลอดเข้าไปสู่มดลูกทางปากมดลูก เมื่อเกิดการปฏิสนธิกับไข่ ผู้หญิงจะให้กำเนิดทารกน้อย มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณปากมดลูกและสามารถแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของอวัยวะสืบพันธุ์นี้ และบริเวณอื่นของร่างกายได้

ใครมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกบ้าง

สาเหตุสำคัญของโรคนี้เกิดจากเชื้อฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human papilloma virus: HPV) ซึ่งติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และอื่น ๆ

ปัจจัยเสี่ยงอื่นนอกเหนือจากเชื้อ HPV ที่กล่าวมา ได้แก่

1. อายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

2. มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น

3. สูบบุหรี่

4. มีบุตรจำนวนมาก

5. ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)

6. ไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่าแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้นผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา จึงมีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกได้สูง

มารู้จักคำว่า “การตรวจคัดกรองกันเถอะ”

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หมายถึง การตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนที่จะมีอาการ เป็นการตรวจหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งและมะเร็งระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ รวมถึงรักษามะเร็งระยะเริ่มแรกอย่างได้ผล

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันมีหลายวิธี แต่ที่นิยมใช้คือ

1. การตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยาหรือแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจเช็คให้ในขณะที่ทำการตรวจภายใน หลังจากตรวจเสร็จแพทย์จะนัดฟังผลตรวจหรือแจ้งผลให้ทราบในภายหลัง หากมีความผิดปกติก็จะใช้การรักษาตามความผิดปกติของรอยโรค

2. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเซลล์วิทยา ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจวิธีนี้มีข้อดีคือ แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติได้ดีขึ้น แต่มีข้อเสียคือ ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

ในปัจจุบันแนะนำให้ผู้หญิงไทยตรวจภายในพร้อมตรวจแป๊ปสเมียร์ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แล้วประมาณ 3 ปี หรืออายุมากกว่า 30 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

นพ.ภุชงค์ ลิขิตธนสมบัติ หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล