"หมอธีระวัฒน์"ขอล็อกดาวน์ 21 วันสู้โควิด-19

2020-03-18 10:18:30

"หมอธีระวัฒน์"ขอล็อกดาวน์ 21 วันสู้โควิด-19

Advertisement

"หมอธีระวัฒน์" ระบุประเทศไทยต้องการมาตรการแบบที่หยุดการแพร่ได้เด็ดขาดหรือมากที่สุดเช่นประเทศจีน ขอ 21 วันดำเนินการผู้ฝ่าฝืนมีโทษ ระบุปิดสถานที่อย่างที่รัฐบาลประกาศขณะไม่ช่วยอะไรมาก การใช้ชีวิตของประชาชนยังเหมือนเดิม ยังมีการทำงานในออฟฟิศ การเดินทางยังใช้รถโดยสารเช่นเดิม การแพร่แม้อาจจะดูเหมือนลดจำนวนในแต่ละวันได้ แต่รอปะทุ

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า ระยะสุดท้ายจะทำหรือไม่ทำ? ประเทศไทยต้องการมาตรการแบบที่หยุดการแพร่ได้เด็ดขาดหรือมากที่สุดเช่นประเทศจีน ขอ 21 วัน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ

•ห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นยกเว้นอาชีพที่ไม่สามารถทำจากที่บ้านได้ เช่นแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ พนักงานสาธารณูปโภค

•ออกไปทำธุระที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน

•หรือจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือผู้อื่น

•และออกมาลำพัง หรือด้วยคนน้อยที่สุด

•ห้ามการชุมนุม โดยเด็ดขาด 

•ในสถานที่ทำงานที่อนุญาตให้ไปทำนั้นต้องป้องกันตนเอง และรักษาระยะ 1- 2 เมตร 

•ในกรณีที่ออกจากบ้านในกลุ่มที่จำเป็นดังกล่าวต้องสวมหน้ากาก และล้างมือบ่อยที่สุด 

•ในขณะที่มีมาตรการปิดบ้านมีกระบวนการทำลายเชื้อ ในทุกพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้าน อำเภอ ตำบล จังหวัด

ปิดสถานที่อย่างที่รัฐบาลประกาศขณะไม่ช่วยอะไรมาก เพราะการใช้ชีวิตของประชาชนยังเหมือนเดิม ยังมีการทำงานในออฟฟิศ การเดินทางยังใช้ รถโดยสารเช่นเดิม การแพร่แม้อาจจะดูเหมือนลดจำนวนในแต่ละวันได้ แต่รอปะทุเป็นอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และกระทบระบบสาธารณสุข ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง ดูสถานการณ์ในโรงพยาบาลขณะนี้ตั้งแต่ความลำบากในการจำแนกผู้ต้องสงสัยและมีผู้ป่วยติดเชื้อจริงมากขึ้น และอุปกรณ์และบุคลากร ที่จะอัตคัดขึ้นตามลำดับ

มาตรการปิดบ้านดังกล่าวไม่ใช่จบแล้วจบเลย แต่ต้องมีมาตรการต่อเนื่องเช่นในประเทศจีน คือ มีการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล โดยดำเนินชีวิตเริ่มเข้าใกล้ปกติมากขึ้น และมีการตรวจตราหาผู้ติดเชื้อใหม่และกักกันรักษา การตรวจตราหาผู้ติดเชื้อใหม่ได้ง่าย โดยชุดตรวจหาแอนติบอดีในเลือดแบบเพิ่งติดเชื้อ หรือติดเชื้อมานานแล้ว ซึ่งถูกประหยัดและรวดเร็ว และมีการสุ่มตรวจเป็นกลุ่ม เป็นระยะในพื้นที่ต่างๆ เป็นควบคุมตลอดเวลา จนกว่าจะมีวัคซีน 




ขอบคุณเพจ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha