เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ท่ามกลางการประท้วงจากทั่วโลก หลายประเทศมุสลิมได้รวมตัวเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ยังผลให้ นางออง ซาน ซู จี ผู้นำเมียนมาต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักหน่วงมากขึ้น
ภาพ Dibyangshu SARKAR / AFP
ซึ่งจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ หรือยูเอ็นในบังกลาเทศ ระบุว่า จนถึงขณะนี้ มีชาวโรฮีนจา อพยพออกจากพื้นที่ข้ามพรมแดนเข้าบังกลาเทศแล้ว 123,600 คน ในช่วงกว่า 10 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ บรรดาผู้นำจากหลายประเทศมุสลิม ซึ่งรวมทั้งมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, บังกลาเทศ และปากีสถาน พยายามที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเมียนมา โดยรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตเมียนมา เข้าพบเพื่อแสดงความกังวล ขณะที่ เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ก็ได้เปิดการเจรจากับนางซู จี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และเมื่อวานนี้ มาร์ซูดี ก็ได้พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศในกรุงธากาด้วย ซึ่งเธอกล่าวว่า อินโดนีเซียพร้อมแบ่งเบาภาระของบังกลาเทศในการแก้ปัญหาโรฮีนจา ที่อพยพจากเมียนมา แต่ก็ช่วยด้านมนุษยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ด้านการเงิน
ภาพ Dibyangshu SARKAR / AFP
ตรงกันข้าม บรรดาผู้นำชาติตะวันตก จนถึงขณะนี้ ยังมีท่าทีลังเลที่จะพูดถึงปัญหาดังกล่าว เนื่องจากโลกตะวันตก ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องความขัดแย้งนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ แต่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เปิดเผยแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเมื่อวานนี้ว่า เขารู้สึกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัย, มนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ของเมียนมา รัฐบาลเมียนมาต้องดำเนินการเพื่อหยุดวงจรชั่วร้าย และรักษาความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือชาวโรฮีนจา
ภาพ K.M. ASAD / AFP
ทั้งนี้ ความรุนแรงครั้งล่าสุดในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มหัวรุนแรงชาวโรฮีนจา โจมตีที่มั่นของตำรวจและทหารเมียนมาหลายสิบแห่ง ทำให้กองทัพเมียนมา เปิดฉากกวาดล้างใหญ่ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 400 คน และจุดชนวนให้การการอพยพเข้าสู่บังกลาเทศ
ภาพเปิด AFP