น้ำแข็งขั้วโลกเหนือ-ใต้ ละลายเร็วขึ้น 6 เท่า

2020-03-14 16:05:10

น้ำแข็งขั้วโลกเหนือ-ใต้ ละลายเร็วขึ้น 6 เท่า

Advertisement


ผลการศึกษาวิจัยล่าสุด ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ พบว่า แผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมา 2 แห่งของโลก บนเกาะกรีนแลนด์ ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนบน ใกล้ขั้วโลกเหนือ กับทวีปแอนตาร์กติกา ใกล้ขั้วโลกใต้ ละลายเร็วกว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 หรือเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ถึง 6 เท่า สาเหตุจากสภาพอากาศของโลกร้อนขึ้น

การตรวจสอบข้อมูลจากดาวเทียมแบบครอบคลุม พบว่า เกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกา สูญเสียมวลน้ำแข็ง 6.4 ล้านล้านตัน ระหว่างปี พ.ศ. 2535 – 2560 ซึ่งเพียงพอที่จะดันระดับน้ำทะเลทั่วโลก ให้สูงขึ้น 17.8 มิลลิเมตร



ศาสตราจารย์ แอนดรูว์ เชพเพิร์ด จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า นี่ถือว่าไม่ใช่ข่าวดี ปัจจุบันแผ่นน้ำแข็งมีส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของการสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเลทั่วโลก แต่เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วมีส่วนแค่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ กรณีนี้นับว่าสำคัญมากสำหรับอนาคต สำหรับการเกิดน้ำท่วม และน้ำกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล

ศ.เชพเพิร์ดและทีมงาน ทำการศึกษาวิจัยในโครงการ อิมบี (Ice Sheet Mass Balance Intercomparison Exercise : Imbie) ซึ่งส่วนหลักได้จากการตรวจสอบข้อมูลดาวเทียม ในระยะเวลาเกือบ 30 ปี โดยดาวเทียมจะเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงปริมาตร การไหล และความถ่วง ของแผ่นน้ำแข็งทั้ง 2 ขั้วของโลก.