เปิดวิธีรับคืน เงินค่าประกัน "มิเตอร์ไฟฟ้า"

2020-03-10 14:25:39

เปิดวิธีรับคืน เงินค่าประกัน "มิเตอร์ไฟฟ้า"

Advertisement

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะยังคงไม่จ่ายเงินคนละ 2,000 บาท เพื่อช่วยเหลือในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่จะใช้มาตรการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าประมาณ 3,000 บาทต่อครัวเรือนแทน หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับรายละเอียด การคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าว่าต้องทำอย่างไร เราไปทำความเข้าใจกันเลย

สำหรับ “ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า” ที่จะคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็กนั้น หลายท่านที่เคยยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้า จะรู้จักกันในชื่อค่าธรรมเนียม “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า”

โดยที่มาที่ไปของ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ครั้งแรกที่คุณยื่นขอใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าจะเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งคุณจะได้เงินคืนก็ต่อเมื่อคุณเดินทางไปทำเรื่องยกเลิกใช้ไฟฟ้า




ส่วนเหตุผลที่ต้องเก็บ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” เนื่องจากเป็นค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า เพื่อเป็นเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ยกตัวอย่างความจำเป็นที่ต้องมีการเก็บ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” ให้เห็นภาพว่า บ้านของนาย ก. ไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้า ทาง กฟน. ก็จะยึดเงินประกันการใช้ไฟฟ้าของ นาย ก. ที่เคยจ่ายไว้กลับเข้ารัฐ

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมเงินประกันคืนเมื่อยกเลิกใช้ไฟฟ้า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละรายที่วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้กับการไฟฟ้าฯ มีตั้งแต่ 300 บาท 2,000 บาท 4,000 บาท และ 6,000 บาท โดยผู้ที่จะได้รับเงินคืนค่าประกันค่ามิเตอร์ มีจำนวนรวม 21.5 ล้านราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท" เริ่มทยอยคืนได้ในรอบบิล “สิ้นเดือนมีนาคม” นี้



ทั้งนี้ประชาชนสามารถดำเนินการขอคืนเงินกับหน่วยงานที่ท่านยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ท่านขอใช้ไฟฟ้าจาก กฟน. หรือ กฟภ. แต่เงินประกันของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละครัวเรือน จะมีจำนวนเงินไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ และมิใช่ว่าทุกคนในบ้านจะได้เงิน แต่ผู้ที่ได้เงินจะเป็นผู้ที่ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น

ส่วนกรณีถ้าเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าเสียชีวิตแล้ว ลูกหลานจะได้รับเงินคืนหรือไม่นั้น นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุสั้นๆ ว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร