“ชาญกฤช” สวน พท.นโยบายรัฐบาลในอดีตต้นเหตุจนเพิ่ม

2020-03-08 06:00:38

“ชาญกฤช” สวน พท.นโยบายรัฐบาลในอดีตต้นเหตุจนเพิ่ม

Advertisement

“ชาญกฤช” สวนกลับเพื่อไทย นโยบายกระตุ้นให้เป็นหนี้ของรัฐบาลในอดีต ต้นเหตุคนไทยจนเพิ่ม

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวถึงกรณีธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดที่ระบุว่า ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยระหว่างปี 2558-2561 มีอัตราความยากจนของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นมากกว่า 6,700,000 คน และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ รายได้ครัวเรือนลดลง จริงอยู่ในช่วงปี 2558 เป็นต้นมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อยากขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งพึ่งเริ่มเข้ามาแก้ไขปัญหาที่รุมเร้าหลายประการ โดยเฉพาะวิกฤติความแตกแยกทางการเมือง ปัญหาอภิมหาคอร์รัปชั่นครั้งประวัติศาสตร์ และปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งในขณะที่เกิดวิกฤตความแตกแยกทางการเมือง GDP ของประเทศไทยเติบโตเพียง 1เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

สำหรับปัญหาทางเศรษฐกิจที่สั่งสมและพอกพูนเรื่อยมาจากรัฐบาลชุดก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้ามาบริหารประเทศนั้น นักวิชาการจากหลายสำนักและพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่คงยังจำกันได้ ถึงบรรยากาศที่อบอวลของการกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ และพฤติกรรมบริโภคนิยมของรัฐบาลในอดีต ผ่านโครงการเงินกู้ประเภทต่างๆ รวมถึงโครงการประชานิยม "รถยนต์คันแรก" ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยรวบรวมข้อมูลหนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวขึ้นเร็วมากในปี 2553–2556 เฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท คนไทยอยู่ในภาวะง่อยเปลี้ย กำลังซื้อมหาศาลที่หายไปจากการเป็นหนี้ นำไปสู่วงจรอุบาทว์ เป็นปัญหาต่อครอบครัว และฉุดรั้งเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศในระยะยาว 

รัฐบาล ผ่านทางกระทรวงการคลัง เล็งเห็นถึงความท้าทายและต้องการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัย (Aging Society) แบบสมบูรณ์ในปี 2564 จึงเป็นที่มาของการยกระดับประเทศไทยและอุตสาหกรรมการผลิตไทยสู่ยุค 4.0 โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ประเทศไทยและภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้ทั้งในเวทีระดับภูมิภาคและในเวทีโลก

สำหรับพี่น้องผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมียอดขายสินค้าที่คิดเป็นมูลค่าราว 40% ของ GDP มีการจ้างงานถึง 14 ล้านคน คิดเป็น 80-85% ของการจ้างงานในประเทศทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งการให้ยกระดับการดูแลผู้ประกอบการ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ

โดยท่านอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้สั่งการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายเวลาค้ำประกันเเละปรับเงื่อนไขให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ SMEs เพื่อให้ทำธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงได้สั่งการให้ บสย. ประสานความร่วมมือไปยังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมวงเงินสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการเสริมสภาพคล่อง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการประชารัฐสร้างไทยออกมารองรับพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องผู้มีรายได้น้อย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนทั่วทั้งประเทศ โดยรัฐบาลได้นำร่องพัฒนาความรู้และทักษะเชิงนวัตกรรมในการประกอบอาชีพ ส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยีการเพาะปลูก-เก็บเกี่ยวเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ยกระดับสู่เกษตรแปรรูป ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงการสร้างช่องทางการกระจายสินค้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างตรงจุดและอย่างยั่งยืน

รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเร่งสะสางปัญหาของประเทศที่ถูกสั่งสมมานาน อีกทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งประทุขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง พรบ.งบประมาณที่ล่าช้า และล่าสุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

“ชุดมาตรการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในทุกกลุ่มรายได้ ซึ่งท่านอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกชุดมาตรการใหม่ๆ เป็นระยะๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ไม่ให้เกิดวิกฤต  และในเวลาเดียวกัน ก็จะมุ่งพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนและการสร้างความเข้มแข็งผ่านชุมชนทั่วทั้งประเทศ” นายชาญกฤช” กล่าว