คพ.ยันฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เสร็จตามกำหนด

2020-03-06 21:25:06

คพ.ยันฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เสร็จตามกำหนด

Advertisement

คพ. ยืนยันการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ขุดลอกตะกอนใต้ท้องน้ำ 40,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อไปฝังกลบในบ่อฝังกลบแบบปลอดภัย เสร็จภายใน 1,000 วัน ขณะนี้มีความก้าวหน้าร้อยละ 61 เหลือเวลาอีก 300 วัน ผลการตรวจสารตะกั่วในพืชในสัตว์น้ำ และในเลือดของชาวบ้านมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คพ. ได้ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ซึ่งขณะนี้การจัดทำบ่อฝังกลบแบบปลอดภัยขนาดความจุ 100,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เพื่อรองรับดินปนเปื้อนตะกั่วและตะกอนท้องน้ำที่จะขุดลอกขึ้นมา ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังดูดตะกอนในลำห้วย ตามงบประมาณ 40,000 ลบ.ม. และทุกกิจกรรมมีความก้าวหน้าร้อยละ 61 เหลือเวลาอีก 300 วัน จะแล้วเสร็จภายใน 1,000 วันตามสัญญา


นายประลอง กล่าวว่า ข้อเรียกร้องจากผู้แทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง ในเรื่องการประสานงานกับชาวบ้านในการร่วมเก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนท้องน้ำ หรือตัวอย่างสัตว์น้ำและพืชผักอื่นๆ ในลำห้วยคลิตี้เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารตะกั่ว และการนำผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดังกล่าวมาชี้แจงชาวบ้านเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตาม นั้น คพ. ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านทราบก่อนลงพื้นที่ ในที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคีฯ และกลุ่มไลน์ และได้นำผลการวิเคราะห์ฯ ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันรวบรวมใส่แฟ้มเอกสารและจัดเก็บไว้ในอาคารสำนักงานชั่วคราวของโครงการฯ พร้อมได้ทำการปิดประกาศ ณ ที่ว่าการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล และที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ และจะได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แบบแปลนการปิดคลุมบ่อเก็บกักตะกอนหางแร่ แบบการคำนวณการถมบ่อ และเอกสารแสดงค่าระดับก่อนและหลังการถมบ่อ ประกอบการปรับปรุงสัญญาจ้างโครงการฯ ใส่แฟ้มเอกสารและจัดเก็บไว้ในอาคารสำนักงานชั่วคราวของโครงการฯ เช่นกัน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลา


ในเรื่องข้อกังวลว่าจะเกิดการทรุดตัวและเสี่ยงต่อการพังทลายของบ่อเก็บตะกอนหางแร่เดิม นั้น ทาง คพ. ได้ติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่ดังกล่าว โดยให้ผู้รับจ้างดำเนินการตรวจสอบเป็นประจำ และปัจจุบันสภาพพื้นที่มิได้เกิดการทรุดตัวหรือพังทลายแต่อย่างใด สำหรับปัญหาการดูดตะกอนแล้วทำให้แหล่งน้ำเป็นฝุ่นตะกอน ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคได้นั้น ทางบริษัทผู้รับจ้างจะแจกจ่ายน้ำทั้ง 55 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบตลอดช่วงที่ดูดตะกอน และการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในพืชตั้งแต่ปี 2556  ถึงปัจจุบัน กลุ่มพืชประเภทกินหัว กินลำต้น กินดอก และกินผล พบปริมาณตะกั่วสะสมอยู่ในบริเวณรากของพืชประเภทกินหัวมากกว่าพืชกลุ่มอื่น และปริมาณตะกั่วในพืชมีแนวโน้มที่ไม่เพิ่มขึ้น ในส่วนของสัตว์น้ำพบปริมาณตะกั่วในหอย มากกว่า ปู กุ้ง และปลา ตามลำดับ และปริมาณตะกั่วในสัตว์น้ำมีแนวโน้มลดลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ทางสถิติปริมาณตะกั่วในตะกอนดิน ส่วนผลการวิเคราะห์ระดับตะกั่วในเลือดของประชาชนพบว่ามีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อเสร็จการฟื้นฟูในระยะที่ 1 แล้ว ประชาชนได้ขอให้ คพ.ดำเนินการต่อ ในการนำหางแร่ตะกั่วที่อยู่บนดินอีกจำนวนมาก ไปบำบัดหรือนำไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบเป็นระยะที่ 2 ต่อไป นายประลอง กล่าว