เรือสำราญท่องเที่ยวมหาสมุทร “แกรนด์ ปรินเซส” ของบริษัทคาร์นิวัล คอร์ป ถูกห้ามไม่ให้เดินทางกลับเข้าจอดเทียบท่าในซาน ฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม เนื่องจากหวาดกลัวการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังมีผู้โดยสารบนเรืออย่างน้อย 35 คนล้มป่วยมีอาการคล้ายโรคระบบทางเดินหายใจ โดยก่อนหน้านี้ มีผู้โดยสาร 2 คน ซึ่งเคยท่องเที่ยวกับเรือลำนี้ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คนหนึ่งเสียชีวิตในแคลิฟอร์เนีย
นายแกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วรัฐ และกล่าวว่า เรือลำนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฝั่งอย่างเด็ดขาดจนกว่าผู้โดยสารจะผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเรือสำราญ เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเริ่มระบาดครั้งแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ และคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 3,200 คน ขณะเดียวกัน ก็มีการคุมเข้มการเดินทาง และยังหวาดกลัวด้วยว่า การระบาดของไวรัสจะนำไปสู่การยกเลิกการเดินทาง
หุ้นของบริษัทเรือสำราญในสหรัฐ ร่วงลงอย่างน้อยร้อยละ 40 ตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้ โดยบริษัทครูส ไลน์ ของนอร์เวย์ สูญเสียมูลค่าหุ้นประมาณครึ่งหนึ่ง
สถานการณ์ของเรือสำราญลำนี้ ไม่ต่างจากเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส ที่ถูกกักอยู่นอกชายฝั่งญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ และกลายเป็นแหล่งระบาดใหญ่ที่สุดของไวรัสโควิด-19 นอกจีนแผ่นดินใหญ่
ล่าสุด สหรัฐส่งชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อตรวจผู้โดยสารบนเรือสำราญ “แกรนด์ ปรินเซส” เมื่อวันพฤหัสบดี หลังจากทางสหรัฐห้ามเรือลำนี้เดินทางกลับเข้าฝั่งในซานฟรานซิสโก แมรี เอลเลน คาโรลล์ ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานบริหารจัดการภัยฉุกเฉินของซาน ฟรานซิสโก แถลงว่า เรือสำราญ แกรนด์ ปรินเซส มีกำหนดเดินทางกลับซาน ฟรานซิสโกในคืนวันพุธที่ผ่านมา หลังเดินทางท่องเที่ยว 15 วันไป-กลับฮาวาย พร้อมผู้โดยสาร 2,383 คน และลูกเรือ 1,100 คน แต่นายนิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้กักเรืออยู่นอกชายฝั่ง หลังจากรับทราบว่ามีผู้โดยสาร 35 คนบนเรือ แสดงอาการป่วยระบบทางเดินหายใจคล้ายติดเชื้อไวรัสโควิด-19
สำหรับในสหรัฐมีผู้เสียชีวิตแล้ว 12 คน อยู่ในรัฐวอชิงตัน 11 คน และแคลิฟอร์เนีย 1 คน และติดเชื้อ 215 คน