IOC หนุนญี่ปุ่นจัดโอลิมปิกตามกำหนดเดิม

2020-03-04 13:40:06

IOC หนุนญี่ปุ่นจัดโอลิมปิกตามกำหนดเดิม

Advertisement

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี ยังคงให้การสนับสนุนญี่ปุ่นจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน “โตเกียว โอลิมปิกส์” ต่อไปพร้อมทั้งเรียกร้องให้บรรดานักกีฬาเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19

มาร์ค อดัมส์ โฆษกของไอโอซี ยืนยันระหว่างแถลงข่าวในเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า ไม่มีแผนสำรอง หรือแผน 2 และว่า กีฬาโอลิมปิก จะเกิดขึ้นตามกำหนดเวลาเดิม คือระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม

แม้ว่าจะมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อผู้ชมและผู้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่ไอโอซี ก็ไม่ได้มีการหารือกันเกี่ยวกับทางเลือกอื่น เช่นยกเลิก หรือเลื่อนการแข่งขัน




อดัมส์ กล่าวว่า ไม่มีคำสั่งห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ และคำแนะนำทั้งหมดที่ไอโอซีได้รับ คือเกมการแข่งขันสามารถจัดและเดินหน้าได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ เริ่มในวันที่ 24 กรกฎาคม

คณะกรรมการไอโอซี แถลงว่า มีการจัดตั้งคณะปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจร่วมกันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของไอโอซี, คณะผู้จัดโตเกียว เกมส์, กรุงโตเกียว, รัฐบาลญี่ปุ่น และองค์การอนามัยโลก เพื่อช่วยกันจัดการกับไวรัสโควิด-19 ให้ได้ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก



ทั้งนี้ กรุงโตเกียว เจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ทุ่มเทงบประมาณไปกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็ใช้เงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้จัดโตเกียว เกมส์ มีกำหนดจะส่งรายงานผ่านการประชุมทางไกลต่อคณะกรรมการบริหารของไอโอซี ในวันพุธนี้

ส่วนสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นเมื่อวันอังคาร พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 7 คน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งหมด 987 คน ซึ่งรวมทั้งกว่า 700 คนจากเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส ที่ถูกกักอยู่ในน่านน้ำใกล้กรุงโตเกียว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในฮอกไกโด ทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดฮอกไกโด ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ รัฐบาลกลางญี่ปุ่นเตรียมสั่งให้บรรดาผู้บริษัทผู้ผลิต ชายสินค้าของพวกเขาให้แก่รัฐบาลตามราคาที่กำหนดไว้ มาตรการนี้นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ในญี่ปุ่น บนพื้นฐานของกฎหมายที่บังคับใช้ในปี 2516 หลังประชาชนแห่ซื้อสินค้าอย่างตื่นตระหนก เนื่องจากเกิดวิกฤตน้ำมัน

ฮอกไกโดถือว่าเป็นพื้นที่ที่รัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หน้ากากอนามัยจำนวน 3.2 ล้านชิ้น จะถูกส่งมอบให้ประชาชน 80,000 ครัวเรือนในหลายพื้นที่ ที่กำลังมีการระบาดของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็ว ส่วนในจังหวัดชิบะ ใกล้กรุงโตเกียว บ้านพักคนชรา ก็ดูเหมือนจะมีหน้ากากใช้ได้อีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ขณะที่ผลการสำรวจพบว่า เกือบร้อยละ 20 ของผู้ประกอบการบ้านพักคนชรา ไม่มีหน้ากากอนามัยเหลือแล้ว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทผู้ผลิตก็เร่งผลิตกันอย่างเต็มที่ โดยไอริส โอยามา หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัย แถลงว่า ทางบริษัทกำลังเร่งผลิตเพื่อส่งสินค้าให้ลูกค้ามากกว่าปกติถึง 5 เท่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่น ตัดสินใจให้เงินสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 3 ราย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศให้ได้ 600 ล้านชิ้นต่อเดือนภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้