"ธณิกานต์" จับมือ Dr.Sunitha นักสิทธิสตรีระดับโลก ยกระดับการสร้างความตื่นรู้ให้สตรีไทย ไม่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์และค้าประเวณีในอินเดียและทั่วโลก
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. เขตบางซื่อ-ดุสิต สมาชิกรัฐสภาสตรีไทย ประธานคณะกรรมการนโยบายสตรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ผลักดันโครงการความปลอดภัยสตรี (Women Homeland Security) ให้การต้อนรับ Dr.Sunitha Krishnan นักส่งเสริมสิทธิสตรีและต่อต้านการค้ามนุษย์ที่มีชื่อเสียงมากของประเทศอินเดีย ผู้ก่อตั้งองค์กร Prajwala ซึ่งได้ช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีมาแล้วมากกว่า 23,000 ราย ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมนายภวิกกร พวงเกตุแก้ว ผู้แทนกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย เพื่อยกระดับการดูแลด้านความปลอดภัยให้ผู้หญิงทั่วโลกเนื่องในวันสตรีสากล (International Women’s Day)
โดย Dr.Sunitha Krishnan ได้นำเสนอมุมมองด้านการสนับสนุนและความร่วมมือจากรัฐบาลไทย และเครือข่ายองค์กรสตรีในประเทศไทย ในการมองภาพรวมของการนำพาผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีกลับเข้าสู่สังคม ทั้งด้านกายภาพและจิตใจ แนวทางการสร้างทางเลือกทางเศรษฐกิจในการทำงานเลี้ยงชีพ การพื้นฟูสภาพจิตใจในการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต การสร้างความรู้ความเข้าใจให้สังคมในการช่วยกันดูแลผู้ตกเหยื่อ ที่จะนำสู่การตัดวงจรการค้ามนุษย์ ป้องกันไม่ให้หญิงไทยตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีในประเทศอินเดียและทั่วโลก
น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่า การล่อลวงเหยื่อหญิงไทยในยุคสังคมโลกดิจิทัลไร้พรมแดนที่นับวันมีจำนวนมากขึ้นและขยายวงกว้างขึ้น แต่กลับไม่ถูกส่งเสียงออกมา สังคมยังมีมุมมองต่อผู้เป็นเหยื่อว่าเป็นผู้ผิดและเป็นเรื่องน่าอาย ต้องอาศัยการให้องค์ความรู้และความเข้าใจอย่างเท่าทันเพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกล่อลวงผ่านสังคมออนไลน์ อีกทั้งการดูแลและการยอมรับจากคนรอบข้าง รวมถึงมาตรการหรือกฎหมายในการคุ้มครองดูแล ตลอดจนศูนย์เยียวยาทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และการอบรมฝึกอาชีพเพื่อเป็นทางเลือกใหม่กับชีวิตใหม่
ทั้งนี้เพื่อให้ความร่วมมือเกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จะมีการเชิญเหยื่อหญิงไทยในต่างแดนที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถานฑูตไทย และกลับมาสู่ความปลอดภัยในไทยแล้ว และยินดีมาพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับประสบการณ์ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงเคสจริงที่เกิดขึ้นกับหญิงไทยที่โดนหลอกไปค้าประเวณี ตลอดจนสิ่งที่สังคมจะสามารถให้การดูแลร่วมกันได้ เพราะเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิง ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมุมมองของต่างเพศที่มีต่อเพศหญิง ดังนั้นการที่ผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อได้ให้ข้อมูลให้สังคมได้ตระหนักรับรู้ เพื่อนำสู่การสร้างสังคมปลอดภัยสำหรับผู้หญิงอย่างยั่งยืนในระดับนโยบาย