แจ็ค เวลช์ สุดยอดนักบริหารองค์กรธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้สรรค์สร้างบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก หรือ จีอี ให้กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และมีอิทธิพลต่อความคิดและแนวทางบริหารของผู้นำธุรกิจหลายรุ่น เสียชีวิตลงแล้ว ด้วยวัย 84 ปี
อดีตเลขานุการส่วนตัวเผยว่า เวลช์สิ้นลมหายใจเมื่อเย็นวันอาทิตย์ (1 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐ ที่บ้านพักในนครนิวยอร์ก ด้วยสาเหตุจากภาวะไตวาย
อดีตประธานบริษัท และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ผู้มีสไตล์ขวานผ่าซาก และการตัดลดรายจ่ายไม่รู้จบสิ้น จนทำให้ได้รับนามฉายาในวงการว่า แจ็คนิวตรอน (Neutron Jack) เวลช์ปลุกปั้นลูกน้องมือดีหลายคน ให้กลายเป็นผู้นำของหลายบริษัทชื่อดังระดับโลก
ปี พ.ศ. 2542 นิตยสารฟอร์บส์ประกาศยกย่องเวลช์ ให้เป็น ผู้จัดการแห่งศตวรรษ (Manager of the Century) เขาควบคุมการพุ่งของมูลค่าหุ้นเกือบ 3,000 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษของการกุมบังเหียนบริษัทจีอี ก่อนที่ตำนานการบริหารของเขาจะมีมลทินหลังการวางมือ ซึ่งเกิดคำถามเกี่ยวกับวิธีการบัญชี ที่เพิ่งจะปรากฏเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งการแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจการเงิน ที่เกือบทำลายบริษัทในเวลาต่อมา
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ทวีตข้อความไว้อาลัยตอนหนึ่งว่า เวลช์คือเพื่อนและ “ตำนานธุรกิจ” คนหนึ่ง และชื่อของเขาจะถูกจดจำเป็นอมตะ “จะไม่มีผู้นำธุรกิจคนใดเสมอเหมือน แจ็ค‘นิวตรอน”
พนักงานทุกคนในบริษัท จนถึงระดับล่าง เรียกขานชื่อเขาติดปากว่า “แจ็ค” เวลช์กลายเป็นซีอีโออายุน้อยที่สุด ในประวัติศาสตร์ของบริษัทจีอี เมื่อปี 2524 เขาปรับองค์กรให้เล็กลง แต่มีความคล่องตัวมากกว่าเดิม รวมทั้งหล่อหลอมวัฒนธรรมของจีอี เพื่อสะท้อนบุคลิกภาพส่วนตัว ที่เน้นมาตรฐานสูง และไม่พึงพอใจสิ่งใดง่ายๆ
เวลช์วางมือจากธุรกิจ เพียงแค่ 4 วันก่อนเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมช็อคโลก 9/11 กลุ่มก่อการร้าย อัล-กออิดะห์ บุกโจมตีอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 แต่เขายังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้บริหารจีอีที่รับช่วงต่อ รวมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อ อีกกว่า 10 ปีหลังจากนั้น
วงการผู้นำธุรกิจยกย่องความสามารถของเวลช์ ในการสร้างผลกำไรให้บริษัทและผู้ถือหุ้น จากสไตล์การบริหารแบบมุ่งหวังผลแบบไม่หยุดยั้ง ของเขา จีอีกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าการตลาดมากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2542
เจฟฟรีย์ ซอนเนอร์เฟลด์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเยล ที่รู้จักมักคุ้นกับเวลช์มานาน ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 กล่าวว่า เวลช์กลายเป็น “มาตรฐานทองคำ” สำหรับความยิ่งใหญ่ เป็นไอดอลแบบอย่างของความใฝ่ฝันทางอุตสาหกรรม ประวัติการทำงานตลอด 20 ปีในฐานะซีอีโอของจีอี ยากที่จะหาใครเทียมเท่า
ผู้นำธุรกิจทั่วอเมริกา เลียนแบบยุทธศาสตร์ความเป็นผู้นำองค์กรของเวลช์ และเขาปั้นลูกน้องขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจระดับหัวแถวของประเทศหลายคน รวมถึง ดับเบิลยู. เจมส์ แม็คเนอร์นีย์ จูเนียร์ อดีตซีอีโอบริษัทโบอิ้ง โรเบิร์ต นาร์เดลลี อดีตประธานและซีอีโอบริษัทไครส์เลอร์ และบริษัทโฮม ดีโปท์ และ เจฟฟรีย์ อิมเมลท์ ที่รับตำแหน่งซีอีโอบริษัทจีอีต่อจากเวลช์
ตำนานของเวลช์ด่างพร้อยหลังเกษียณ ผลพวงจากการวางแผนธุรกิจของเขา ทำให้จีอีสูญเสียมูลค่าการตลาด กว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ จากผลประกอบการ 2 ปีติดต่อกัน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2561 โชคยังดีที่ นายแลร์รี่ คัลพ์ ซีอีโอคนล่าสุด ช่วยกอบกู้วิกฤติได้หวุดหวิด
แจ็ค เวลช์ หรือ จอห์น ฟรานซิส เวลช์ จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2478 ที่เมืองพีบาดี รัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นลูกโทนและลูกชายคนเดียวของนาย จอห์น ฟรานซิส เวลช์ ซีเนียร์ พนักงานเก็บตั๋วรถไฟบริษัทบอสตัน แอนด์ เมน กับนางเกรซ แอนดรูว์ เวลช์
วัยเด็กเติบโตและเรียนหนังสือที่เมืองซาเลม มีนิสัยพูดจาโผงผาง จนได้รับการโหวตจากเพื่อนๆ ให้เป็น คน “ขี้คุยที่สุดและเสียงดังที่สุด” ในชั้นเรียน และเก่งในการเล่นกีฬาหลายชนิด ต่อมาเขาเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ วิทยาเขตแอมเฮิร์สท์ เมื่อปี 2500 และ 3 ปีต่อมาคว้าปริญญาเอกวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ก่อนจะเข้าทำงานในบริษัทจีอี ที่เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐแมสซาชูเซตส์ ด้วยอัตราค่าจ้าง 10,500 ดอลลาร์ต่อปี โดยขณะนั้นจีอีขยายเข้าสู่ธุรกิจพลาสติก
เวลช์ทำงานไต่เต้าตำแหน่งในจีอีอย่างต่อเนื่อง และด้วยอายุเพียงแค่ 45 ปี เข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทและซีอีโอ สืบต่อจากนายเรจินัลด์ โจนส์ ก่อนจะเดินหน้าใช้ความสามารถบริหาร จนจีอีกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2542