“เทวัญ”ถกด่วนเชฟโรเลตหลังหั่นราคา 50 เปอร์เซ็นต์ ทราบดีอยู่แล้วไม่มีสินค้า แต่ยังออกใบจองรับเงินจอง ถือเป็นความผิด สคบ. สามารถฟ้องบริษัทตัวแทน บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ได้ แนะหามาตรการชดเชย ดูแลสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธงชัย ลืออดุลย์ เลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เชิญผู้แทนบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) หารือกรณีที่บริษัทประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย และมีการปรับลดราคารถยนต์ รุ่นแคปติวาลง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์และทำการจองรถยนต์รุ่นนี้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการผู้บริโภค (สคบ.) จำนวน 16 ราย ณ ปัจจุบัน ที่ผ่านมาภายหลังจากการประกาศยุติการจำหน่ายในประเทศไทย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการ ดังนี้ 1. ไทย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) มีบริการหลังการขายและดูแลผู้บริโภค มีการรับประกันคุณภาพรถยนต์ จำนวน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร หรืออย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อนและการซ่อมบำรุง ณ ศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท เชฟโรเลตฯ 2.ผู้บริโภคสามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท เชฟโรเลตฯ ทั่วประเทศ 3. บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีคลังอะไหล่แท้มาตรฐานทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ไว้ครบถ้วน และเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค 4. บริษัท เชฟโรเลตฯ ไม่มีนโยบายคืนเงินให้กับผู้บริโภคเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น
ภายหลังการหารือ นายเทวัญ เปิดเผยว่า จากประเด็นที่ผู้บริโภคร้องเรียนต่อ สคบ. ส่วนมาก เป็นเรื่องการซื้อรถยนต์ของบริษัทก่อนการประกาศลดราคาลง 50เปอร์เซ็นต์เพียงไม่นาน ซึ่งผู้บริโภคมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีระยะเวลาการประกาศแจ้งผู้บริโภคก่อน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการวางเงินจองรถยนต์ในช่วงก่อนการประกาศลดราคา แต่ไม่มีสินค้าจำหน่ายและทางบริษัทตัวแทนขอยกเลิกใบจองและให้ไปรับเงินคืน ซึ่งได้มีการพิจารณากับ สคบ. แล้วว่า จากกรณีที่บริษัททราบดีอยู่แล้วว่าไม่มีสินค้า แต่ยังออกใบจองและรับเงินจองจากผู้บริโภค ถือเป็นความผิดที่ สคบ. สามารถดำเนินการได้ เพราะสินค้ามีไม่เพียงพอกับปริมาณการจองที่เกิดขึ้น ตามกฎหมายสามารถฟ้องทั้งบริษัทตัวแทนและบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ได้ แต่ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ขอให้ทางผู้แทนบริษัทได้พูดคุยหารือกันในส่วนของมาตรการชดเชย และการดูแลที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคต่อไป