ไม่ทนคนโกง ! รวมพลังศิลปินปลุกสังคมอย่าเมินต่อการทุจริต

2020-02-23 10:30:22

ไม่ทนคนโกง ! รวมพลังศิลปินปลุกสังคมอย่าเมินต่อการทุจริต

Advertisement

5 ศิลปินคุณภาพ รวมพลังจุดกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ร่วมกันติดแฮชแท็กไม่ทนคนโกง



นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการเพลงไทย เมื่อเหล่าศิลปินคุณภาพ อย่าง แอ๊ด – ยืนยง โอภากุล, เป้ – บดินทร์ เจริญราษฎร์, ต่าย – อรทัย , ไผ่ พงศธร และ วงพาราด็อกซ์ พร้อมใจกันร่วมสร้างสรรค์ และขับร้องบทเพลงที่มีเนื้อหารณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อจุดกระแสสังคมที่จะไม่ทนต่อการทุจริต พร้อมติดแฮชแท็ก #ไม่ทนคนโกง โดยมีกำหนดปล่อยเพลงทาง YouTube : Carabao Official , GRAMMY GOLD Official , Genie Records Official ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป






โดยเนื้อหาของเพลงสะท้อนมุมมองการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย ซึ่งบางอย่างพวกเราคนไทยอาจจะยังไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในข่ายของการทุจริต บทเพลงดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ฟังได้เกิดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการทุจริตที่เป็นปัญหาระดับประเทศมาอย่างยาวนาน และเพื่อเป็นการจุดกระแสสังคมเพื่อไม่ทนต่อการทุจริตที่สื่อสารไปยังทุกกลุ่มเป้าหมาย ผ่าน 4 บทเพลง 5 ศิลปิน ได้แก่ เพลง “ตั้งธงไม่ทนคนโกง” ศิลปิน แอ๊ด – ยืนยง โอภากุล Feat. เป้ MVL – บดินทร์ เจริญราษฎร์, เพลง “เหนื่อยที่จะยอม” ศิลปิน ต่าย – อรทัย , เพลง “โอ..คนไทยเอย” ศิลปิน ไผ่ พงศธร, เพลง “ซื่อซื่อ” ศิลปิน วงพาราด็อกซ์





ทั้งนี้ "ต้า – พาราด็อกซ์"  เปิดเผยว่า

“ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยตอนนี้ เป็นปัญหาเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นมานาน และมีแนวโน้มว่ายังเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ผมว่าถึงเวลาที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมาแสดงพลัง แสดงจุดยืนของความถูกต้องครับ





สำหรับเพลงซื่อซื่อ มีแนวคิดของเพลงที่เกิดจาก เมื่อนึกถึงปัญหาประเทศไทยที่มีการโกงเล็กโกงน้อย ก็นึกถึงไอเดียของยอดมนุษย์ ที่เรียกว่าขบวนการพาราดอกซ์แมน โดยจะมียอดมนุษย์ที่เป็นตัวแทนของคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ชื่อว่า ซื่อซื่อ คำว่าซื่อซื่อ คือมันจำง่าย ความหมายก็คือ คนที่ทำอะไรด้วยความซื่อตรงนั่นเอง แล้วรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงพลังของความซื่อสัตย์ เป็นตัวแทนของประชาชนยุคใหม่ที่ไม่ยอมให้คนโกงมาทำร้ายเราได้ เหมือนเป็นการส่งพลังให้ทุกคนสามารถเป็นยอดมนุษย์ได้ เพื่อออกมาต่อสู้กับคนโกงครับ



อยากให้ทุกคนได้ชมมิวสิกวิดีโอ ที่เราพยายามใช้มุกของหนังยอดมนุษย์ เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ที่สนุกสนาน แต่แฝงไปด้วยการสร้างจิตสำนึก เพื่อให้คนที่ออกมาสู้รู้สึกถึงความเป็นฮีโร่ที่ทุกคนก็สามารถเป็นได้ ด้วยการช่วยกันแสดงพลัง ผลของการกระทำเหล่านี้ผมว่ามันจะค่อยๆ ซึมซับ อยากให้เป็นเรื่องเล่าที่ฟังง่าย จำง่าย เพื่อที่จะได้นำมาใช้ประโยชน์ เหมือนเป็นเครื่องที่เตือนสติให้ทุกคนตระหนักคิดให้มากขึ้นครับ”