ผลการศึกษาล่าสุดจากคณะนักวิจัยจากประเทศจีนพบว่า กลุ่มประชากรจีนหากสัมผัสฝุ่นพิษขนาดเล็กจิ๋วอย่างพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเพิ่มมากขึ้น
คณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลฟู่ไหว้ (Fuwai Hospital) ในกรุงปักกิ่ง สังกัดสถาบันบัณฑิตแพทยศาสตร์แห่งชาติจีน ทำการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นเวลานาน การเกิดโรคหัวใจ โรคทางหลอดเลือด และการเสียชีวิต
ข้อมูลที่ใช้ทำการประเมินมาจากชาวจีนมากกว่า 110,000 คน ซึ่งถูกติดตามสถานะระหว่างปี 2000-2015 และคณะนักวิจัยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียมมาประเมินการสัมผัสฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ของผู้เข้าร่วมแต่ละคน
ผลการศึกษาพบว่าการสัมผัสฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี เชื่อมโยงกับความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16
อาการข้างเคียงจากการสัมผัสฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นเวลานาน … การเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและการเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โดยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 และร้อยละ 52 ตามลำดับ
คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการวิจัยนี้เป็นรากฐานสำคัญต่อการประเมินปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับการสัมผัสฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในระดับโลก รวมถึงการวางแผนนโยบายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในจีน
อนึ่ง ผลการศึกษาถูกเผยแพร่ผ่านวารสารวิทยาลัยหทัยวิทยาอเมริกัน (Journal of the American College of Cardiology)