ชาวม่อนแจ่มบุกยื่นหนังสือฯ ประท้วงป่าไม้รุกจัดระเบียบ

2020-02-18 17:35:25

ชาวม่อนแจ่มบุกยื่นหนังสือฯ ประท้วงป่าไม้รุกจัดระเบียบ

Advertisement

ชาวบ้านม่อนแจ่มกว่า 500 คน บุกยื่นหนังสือ หลังป่าไม้รุกคืบจัดระเบียบ ส่ง จนท.ตัดไฟฟ้า -สัญญาณโทรศัพท์ จนต้องปิดให้บริการรีสอร์ท

จากกรณีที่ทางอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมหลายหน่วยงานได้มีการลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าในการจัดระเบียบดอยม่อนแจ่ม แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ในพื้นที่ ต.แม่แรมและ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมป่าไม้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล พบมีบ้านพักและรีสอร์ททั้งหมด116 ราย ในจำนวนนี้ตรวจพบมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม กว่า 30 ไร่ จึงได้แจ้งความดำเนินคดี นอกจากนี้ยังพบอีกหลายรายที่เป็นของชาวบ้าน มีการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่เพิ่มเติม และยังพบลานกางเต็นท์อีก 8 แห่ง ที่เข้าข่ายเป็นสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงกลุ่มนอมินีจากต่างประเทศและนายทุนจากจังหวัดอื่นที่เข้ามาครอบคลุมกิจการ โดยล่าสุดทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมเข้ามาดำเนินการจัดระเบียบดอยม่อนแจ่ม ให้กลับมาเป็นผืนป่าที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วอย่างต่อเนื่อง

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 18 ก.พ. ด้านหน้าที่ทำการ อบต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ได้มีกลุ่มชาวบ้านและผู้ประกอบการรีสอร์ทบนดอยม่อนแจ่ม ทั้งจากบ้านหนองหอยเก่า บ้านหนองหอยใหม่ และบ้านแม่ขิ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กว่า 500 คน นำโดยนายสุรินทร์ นทีไพรวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านหนองหอยเก่า เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังมีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานเข้ามาจัดระเบียบพื้นที่บนดอยม่อนแจ่ม และมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำบ้านพักและรีสอร์ท ทั้งหมด 27 คดี ขณะเดียวกันยังมีการส่งเจ้าหน้าเข้าไปให้รื้อถอนเสาสัญญาณโทรศัพท์ และตัดสัญญาณอินเตอร์เนต เมื่อวันที่ 14 และวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมาเนื่องจากไม่มีการขออนุญาตใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง ส่งผลให้พื้นที่บนดอยม่อนแจ่มไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เนตใช้ รวมถึงตัดน้ำ น้ำไฟ ในพื้นที่เกือบทั้งหมดทำให้กิจการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้




การชุมนุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ทางพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งป่าไม้ อุทยาน โครงการหลวง ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่กรอมน. อำเภอแม่ริม และเจ้าหน้าที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานเอกชนทั้งอค์การโทรศัพท์ ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ทุกค่าย การไฟฟ้า รวมถึงทุกหน่วยงาน เข้าประชุม และมีการสอบถามในที่ประชุม ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และโครงการหลวงขอให้พื้นที่ทำไมพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม มีการขอใช้ไฟฟ้าตามระเบียบจำนวนแค่ 1 รายแต่ที่เหลือมาต่อพ่วงเอา ซึ่งถือว่าผิดกฏหมาย รวมถึงเสาสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณไวไฟอื่นๆ ที่มาตั้งจำนวน 3 เสาของค่ายโทรศัพท์ดัง ทั้งที่พื้นที่นี้เป็นพืนที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจากการตรวจสอบพื้นที่ดอยม่อนแจ่มจำนวน 2,000 ไร่กลายสภาพเป็นบ้านพัก โรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ลานกางเต็นท์แบบถาวรที่เก็บค่าเช่าเป็นรายวัน ร้านอาหาร และอื่นๆ ต่อมาทางเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายก็เข้ามาดำเนินการตัดประปา ตัดไฟฟ้า ในกลุ่มที่ไม่ได้ขออนุญาต รวมถึงมีการสั่งให้รื้อถอนเสาส่งสัญญาณมือถือที่ไม่ได้ขออนุญาต ทำให้ทางค่ายมือถือหลายค่ายต้องส่งรถโมบายมากระจายสัญญาณ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีโทรศัพท์ใช้

โดยนายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมารับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้านและผู้ประกอบการ เพื่อนำข้อร้องเรียนทั้งหมดยื่นต่อนายนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ จากนั้นนายวีระพันธ์ ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน และผู้ประกอบการ โดยมีนายกมล นวลใย ผอ.สำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กอ.รม.เชียงใหม่ และตำรวจ สภ.แม่ริม เข้าร่วมประชุมด้วย



ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาล และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีใจความว่า ขอให้บังคับใช้กฎหมายต่อชาวไทยภูเขาอย่างเป็นธรรม ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 มีเจตนาที่ต้องการให้กิจการที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ลดความขัดแย้ง ภาครัฐสามารถตรวจสอบควบคุมได้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของตนเอง ก่อให้เกิดอาชีพและรายได้ อันจะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดจนลดความขัดแย้งในสังคม ในคำสั่งของ คสช. จะเห็นได้ว่า ชาวม่อนแจ่มมีการอยู่อาศัยทำกิน และการตั้งชุมชน มาก่อนการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ริม และยังปรากฏพื้นที่ที่มีการกันออกจากเขตป่าสวนแห่งชาติแม่ริมไว้สำหรับเอกชนปรากฎตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ชาวม่อนแจ่มได้รับสิทธิให้ครอบครองทำประโยชน์ในเขตปสงวนแห่งชาติแม่ริม ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ลงนามอนุญาตปรากฏตามใบตอบรับ ราษฎรชาวม่อนแจ่มทุกคนเป็นชาวไทยภูเขาตั้งเดิมมีประวัติการดำรงชีพมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น และอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นไปโดยเปิดเผย และที่ผ่านมาไม่มีบุคคลใดทั้งภาครัฐหรือเอกชน มาขับไล่ ข่มขู่ หรือคัดค้านแต่อย่างใด


ราษฎรชาวม่อนแจ่มทุกคนได้รับความอนุคราะห์จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่ริมได้ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ขนาดใหญ่จำนวน เพื่อให้ทั้ง 3 หมู่บ้านได้ใช้ไฟฟ้ากัน ชาวม่อนแจ่มทุกคนได้รับสิทธิเป็นผู้เข้าทำประโยชน์ที่ดินของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ชาวม่อนแจ่มมีทะเบียนบ้านทุกคนทุกครัวเรือน ออกให้โดยอำเภอแม่ริมตามหลักเกณฑ์และระเบียบของกรมการปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย การประกอบอาชีพอื่น ๆ ของชาวไทยภูเขามอนแจ่มที่นอกเหนือจากการเกษตรนั้นเป็นการดำเนินการเพื่อความอยู่รอดของการดำรงชีวิต เพราะที่ผ่านมาภาคการเกษตรเกิดปัญหาเรื่องราคาตกต่ำประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ และที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงเป็นโอกาสที่ชาวม่อนแจ่มได้มีทางเลือกเพื่อก่อให้เกิดรายได้พอเลี้ยงชีพจึงได้ประกอบอาชีพนี้ตลอดมา ฉะนั้นจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่บิดเบือนคำสั่ง คสช. และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งขอให้ยกเลิกประกาศ อ.แม่ริมเนื่องจากมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่ริม ยกเลิกคำสั่งที่จะตัดไฟฟ้าของชาวม่อนแจ่ม ขอให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่ถูกรื้อถอนออกไป ขอให้หน่วยงานภาครัฐยุติการนำเอากฎหมายมากลั่นแกล้งประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยภูเขาม่อนแจ่ม และขอให้ยุติการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ในระหว่างที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาทางรัฐต้องยุติการจับกุมดำเนินคดีข่มขู่ คุกคามชาวม่อนแจ่ม

สำหรับบรรยากาศที่ดอยม่อนแจ่ม ในวันนี้ปรากฏว่าเงียบเหงา ไม่มีนักท่องเที่ยว สถานประกอบการหลายแห่งก็มีการติดป้ายปิดกิจการ บางแห่งก็รื้อถอนเต็นท์ออกไปเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ดอยม่อนแจ่มมีผู้ประกอบการรีสอร์ททั้งหมด 116 แห่ง ถูกแจ้งความดำเนินคดี 27 ราย และมี 216 รายที่นำพื้นที่เกษตรมาสร้างรีสอร์ท คิดเป็นพื้นที่ 363 ไร่ มีบ้านพัก 454 หลัง ลานกางเต็นท์ถาวร 104 แห่ง ลานกางเต็นท์ ชั่วคราว 75 แห่ง ร้านกาแฟ 57 แห่ง และแยกเป็นจุดชมวิว สกายวอร์ค รวมไปถึงโรงรถและโรงเก็บของ 198 แห่ง