“วิษณุ”เผยจ่ายเยียวยาผู้เสียชีวิตเหตุกราดยิงรายละ 1 ล้าน

2020-02-14 04:00:45

“วิษณุ”เผยจ่ายเยียวยาผู้เสียชีวิตเหตุกราดยิงรายละ 1 ล้าน

Advertisement

“วิษณุ”เผยจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตเหตุกราดยิงรายละ 1 ล้าน ไม่ครอบคลุมผู้ก่อเหตุ 1 ราย คู่กรณี 2 ราย บาดเจ็บสาหัสไม่เกิน 2 แสน บาดเจ็บเล็กน้อยไม่เกิน 1 แสน

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จ.นครราชสีมาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์ ในการจ่ายเงินเยียวยาจากกองทุนผู้ประสบภัยจากเหตุคนร้ายกราดยิงประชาชน ในส่วนของกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จะมีการประชุม เพื่อสรุปการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบในวันที่ 14 ก.พ.เวลา 13.00 น.โดยมี นายเทวัญ ลิปตภัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.นี้เป็นต้นไป

นายวิษณุ กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิต จำนวน 27 ราย จาก 30 ราย และผู้บาดเจ็บ 58 ราย โดยไม่ครอบคลุมผู้เสียชีวิต 3 รายที่ประกอบด้วยผู้ก่อเหตุ 1 ราย และคู่กรณี 2 ราย เพราะจะต้องรอดูสำนวนการสอบสวนในทางคดีก่อน  สำหรับผู้เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่นั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย และตำรวจอาสา 1 ราย รายละ 1 ล้านบาท รวมทั้งจะได้รับเงินชดเชยรายละ 3 ล้านบาทที่มาจาก 7-8 กองทุนที่มีอยู่ตามระเบียบของทางตำรวจบวกกับเงินบำเหน็จในทางราชการ และยังได้รับการเลื่อนชั้นยศด้วย  ส่วนพลทหารที่เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เฝ้าคลังอาวุธ จำนวน 1 ราย จะมีสวัสดิการของกองทัพ เช่น เรื่องของประกันชีวิต และสวัสดิการอื่นตามสิทธิที่มีในการช่วยเหลือ 

นายวิษณุ กล่าววต่อว่า ในส่วนผู้เสียชีวิตรายอื่นๆจะได้เงินเยียวยารายละ 1 ล้านบาท รวมถึงจะมีเงินช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆ ช่วยสมทบด้วย สำหรับผู้บาดเจ็บ จำนวน 58 ราย แบ่งเป็น บาดเจ็บสาหัส 29 คน ซึ่งตามกฎหมายการคลัง และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีหลักเกณฑ์ไว้ที่คนละ 200,000 บาท ส่วนบาดเจ็บไม่สาหัส หรือเล็กน้อย 29 คน ซึ่งเราจะพิจารณาจ่ายสูงสุดคนละไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนการช่วยเหลือด้านทรัพย์สินของห้างเทอร์มินัล 21 ที่ได้รับความเสียหายราว 10 ล้านบาท รวมถึงร้านค้าภายในห้าง รถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ขณะที่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่มีภาระหนี้สินกับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน จะยกหนี้ให้กับกรณีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้บาดเจ็บจะลดดอกเบี้ย 0.01