สุดยิ่งใหญ่! รับวาเลนไทน์ จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง 60 คู่

2020-02-12 12:15:26

สุดยิ่งใหญ่! รับวาเลนไทน์  จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง 60 คู่

Advertisement

ต้อนรับวันวาเลนไทน์ จ.สุรินทร์เตรียมจัดงาน "จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง 60 คู่ ยิ่งใหญ่สุดในโลก" ทั้งพิธีฮาวปลึงจองได แบบชาวเขมร และพิธีซัตเต แบบชาวกูยเลี้ยงช้างในวันแห่งความรัก

วันที่ 12 ก.พ. ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ รายงานว่า ใกล้ถึงวันวาเลนไทน์แล้ว หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ได้มีการเตรียมจัดกิจกรรมวันแห่งความรักกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะ อบจ.สุรินทร์ ก็ได้มีการกำหนดจัดงาน “จดทะเบียนบนหลังช้าง” ประจำปี 2563 (ครั้งที่ 13) ในวันที่ 13-14 ก.พ. 2563 ด้วยเช่นกัน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 แล้ว โดยจัดให้มีพิธีสมรสแบบ “พิธีฮาวปลึงจองได” และ “พิธีซัตเต” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวสุรินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของ จ.สุรินทร์ และประชาสัมพันธ์โครงการโลกของช้าง (Elephant Wold) อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้จะมีการจัดพิธีฮาวปลึงจองได วันที่ 13 ก.พ. ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และพิธีซัตเต จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง วันที่ 14 ก.พ.ที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง (คด-ชะ-สึก-สา) ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ มีเป้าหมายจำนวน 60 คู่ (120 คน)

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีฉลองมงคลสมรสในรูปแบบ พิธีฮาวปลึงจองได หรือการบายศรีสู่ขวัญตามประเพณีชาวเขมร กิจกรรมขบวนขันหมากบนหลังช้างของเจ้าบ่าวแห่มาหาเจ้าสาว พิธีแต่งงานแบบชาวกวย “พิธีซัตเต” พิธีเลี้ยงอาหารช้างเพื่อความเป็นสิริมงคล และการจดทะเบียนบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ในโลก บันทึกภาพประวัติศาสตร์การจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการท่องเที่ยว อบจ.สุรินทร์ โทร.044 511975 หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ โทร 044-514044, 044-518530




น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างและการประกอบพิธีแต่งงาน แบบชาวกูยหรือ “พิธีซัตเต” ของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของ จ.สุรินทร์ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก เจ้าบ่าวจะแต่งกายด้วยการนุ่งโสร่งไหม เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าไหมพาดบ่า ศีรษะสวมด้ายมงคล 3 สี เจ้าสาวนุ่งผ้าซิ่นไหมลายกวย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อนพาดด้วยสไบสีแดง และศีรษะสวม “จะลอม” (มงกุฎที่ทำจากใบตาล) เข้าประกอบพิธีตามลำดับความสำคัญ คือ พิธีสวมด้ายมงคลบ่าว-สาว บายศรีสู่ขวัญ และพิธีถอดคางไก่ทายชีวิตคู่บ่าว-สาวโดยหมอพราหมณ์รวมถึงเลี้ยงอาหารช้างเพื่อความเป็นสิริมงคล และการจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

จากนั้นร่วมบันทึกความหวานเป็นภาพประวัติศาสตร์สุดประทับใจ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.สุรินทร์ตามแผนตลาดการท่องเที่ยว ปี 2563 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ ตามโครงการ Cool วันธรรมดาน่าเที่ยว @สุรินทร์ – ศรีสะเกษ