ผู้ตรวจการแผ่นดินเปิดเวทีนานาชาติขยายแนวร่วมขจัดความไม่เป็นธรรม เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดงานเวทีสัมมนาวิชาการนานาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมจับมือผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งประเทศนิวซีแลนด์ขับเคลื่อนคุ้มครองสิทธิของประชาชน เดินหน้าสานต่อเครือข่ายระหว่างประเทศเพิ่มช่องทางช่วยเหลือประชาชนในต่างแดน
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเกียรติจาก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และนายปีเตอร์ ทินเดอลล์ ประธานสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ และผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ กล่าวถ้อยแถลงแสดงความยินดีต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งในงานดังกล่าวได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ ผู้ตรวจการแผ่นดินในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง : ปรับตัวอย่างไรกับความท้าทายที่เกิดขึ้น (Ombudsman in a changing world: resilience amidst challenges) ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล กรุงเทพมหานคร โดยเชิญวิทยากรจากหลากหลายประเทศสมาชิกของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศทั้งทวีปยุโรป อเมริกา เอเชีย โอเชียเนีย และออสเตรเลีย ซึ่งมีประสบการณ์และความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากลจากการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มานำเสนอวิธีการปฏิบัติพัฒนาการ และทิศทางการดำเนินงานให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรภาคีเครือข่ายของผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ประยุกต์ใช้ขอบเขต หน้าที่และอำนาจให้สอดคล้องกับบทบาท หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ที่สังคม สื่อและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วการดำเนินงานเชิงรุกมีความสำคัญ
นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงนามความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินไทยกับประเทศต่าง ๆ ตามกรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ 7 ประเทศ ประกอบด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน คณะกรรมการตรวจสอบแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(Nation Commission of Supervision : NCS) ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Internal Affairs and Communication) ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เครือรัฐออสเตรเลีย คณะกรรมาธิการต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมสิทธิพลเมือง สาธารณัฐเกาหลี (The Anti-Corruption and Civil Rights Commission ( ACRC) of the Republic of Korea) และ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่มีการลงนามความร่วมมือร่วมกับคณะกรรมาธิการต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมสิทธิพลเมือง สาธารณัฐเกาหลี (The Anti-Corruption and Civil Rights Commission ( ACRC) of the Republic of Korea) ได้ดำเนินการร่วมกับ ACRC และกระทรวงแรงงานของประเทศไทยในสาธารณรัฐเกาหลีใต้ แก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในการลักลอบเข้าประเทศเกาหลี และการต่ออายุผู้ใช้แรงงานชาวไทยที่มีคุณภาพ ซื่อสัตย์ เป็นที่ต้องการของนายจ้างแต่มีอายุเกิน 40 ปี ได้ทำงานต่ออีก 4 ปี 10 เดือน ซึ่งกฎหมายแรงงานของสาธารณรัฐเกาหลีกำหนดให้จ้างแรงงานต่างชาติได้แค่อายุ 40 ปี เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานกว่า 17,000 คน ได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป รวมถึงประสานหน่วยงานประกันสุขภาพแห่งสาธารณรัฐเกาหลีให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานไทยในกรณีที่นายจ้างไม่ทำประกันสุขภาพให้ นอกจากนี้ยังเกิดอาสาสมัครแรงงานจำนวน 119 คน กระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ในสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ประสานความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานชาวไทยที่ถูกกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียให้ความช่วยเหลือนักศึกษาไทยในสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่จบการศึกษาให้ได้การรับรองปริญญาเภสัชศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถเทียบวุฒิการศึกษาในสาขาวิชาเภสัชกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยของสาธารณรัฐอินโดนีเซียและมหาวิทยาลัยของประเทศไทยได้ รวมถึงประสานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ในการจัดทำหลักประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุให้นักศึกษาไทยในสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพื่อรองรับค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน รวมถึงให้ ศอ.บต.ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานนักศึกษาไทยให้ข้อมูลความรู้ตั้งแต่ก่อน ระหว่างเดินทางไปศึกษาจนกระทั่งเรียนจบและเทียบวุฒิการศึกษา รวมถึงจัดทำเว็บไซต์เป็นฐานข้อมูลนักศึกษาปัจจุบันมีนักศึกษาลงระบบ จำนวน 3,724 คน
นายรักษเกชา กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายระดับทวิภาคีประเทศที่ 8 โดยเป็นการลงนามความระหว่าง พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายปีเตอร์ เอฟ. โบเชียร์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนร่วมกันที่อาศัยอยู่ในระหว่างทั้งสองประเทศ พัฒนาช่องทางการร้องเรียนและยกระดับวิชาชีพของผู้ตรวจการแผ่นดินในภูมิภาคแปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีแนวคิดจัดตั้งเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อว่า South East Asian Ombudsman Forum (SEAOF) เพื่อสร้างแนวร่วมการบูรณาการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐระหว่างประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน โดยคาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือร่วมกันในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมิได้มุ่งให้ความเป็นธรรมหรือดูแลเฉพาะประชาชนในประเทศไทยเท่านั้น ได้ให้ความสำคัญดูแลซึ่งกันและกันกับประชาชนของเพื่อนบ้านที่พำนักในประเทศไทยด้วย